หลักการปฏิบัติและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง

หน้าที่ของนายจ้าง

วิธีปฏิบัติในการส่งลูกจ้างเข้ารักษา

  1. นายจ้างต้องแน่ใจว่าลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคเนื่องจากการทำงานจริง
  2. ให้นายจ้างกรอกข้อความในแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) ซึ่งชุดหนึ่งมี 2 แผ่น โดยให้ลูกจ้างนำไปแสดงต่อโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนทำความตกลงไว้
  3. ให้นายจ้างส่งสำเนาแบบ กท.44 ไปยังสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา พร้อมแบบแจ้งการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย (กท.16) และใบรับรองแพทย์
  4. ในการส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาตามแบบ กท.44 นี้ หากภายหลังสำนักงานกองทุนเงินทดแทนหรือสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา วินิจฉัยว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิรับเงินทดแทน นายจ้างผู้ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษา จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่สถานพยาบาล ที่ให้การรักษาแก่ลูกจ้างนั้นเอง
หน้าที่ของลูกจ้าง

หน้าที่ของลูกจ้างผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน

  1. รีบแจ้งนายจ้างทันทีที่ประสบอันตราย แม้จะเป็นการประสบอันตรายเพียงเล็กน้อยก็ต้องแจ้ง เพราะอาจจะมีอาการกำเริบมากขึ้นได้ในภายหลัง
  2. กรอกข้อความหรือตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้อง และลงลายมือชื่อในแบบแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (กท.16) ในส่วนของลูกจ้าง
  3. ต้องรักษาพยาบาลกับแพทย์ปัจจุบันชั้น 1
  4. ถ้าลูกจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้ว ให้รีบนำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลมาเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา แล้วแต่กรณี
  5. หากลูกจ้างได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ให้ไปติดต่อสมัครเข้ารับการฟื้นฟูฯ ได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน หรือที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทน หรือสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกจังหวัด
  6. ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ลูกจ้างยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน (กท.16) ได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย