มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 “ผู้จัดการายวัน 360”
07/11/2024
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 “ผู้จัดการายวัน 360”
07/11/2024

รู้ทันกันได้ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุโดนกลลวงจากมิจฉาชีพ

เผยแพร่: 8

รองศาสตราจารย์ ดร. นันทิยา ดวงภุมเมศ
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

      ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากถูกมิจฉาชีพใช้กลลวงต่าง ๆ ให้หลงเชื่อและโอนเงินเพื่อลงทุนหรือซื้อของออนไลน์ โดยผู้สูงอายุบางรายหลงเชื่อจนสูญเงินเก็บมาทั้งชีวิต

      “สื่อ” เป็นเหมือนดาบสองคม เราจะทำอย่างไรเพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุถูกหลอกลวง รู้ทันสื่อต่าง ๆ  โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักจะนิยมดู Youtube เพื่อความบันเทิง หรือคลายเหงา และดูเฉพาะเรื่องที่สนใจเท่านั้น เมื่อเข้าไปดูบ่อยขึ้น อัลกอริทึม (Algorithm) จะแสดงบนหน้าฟีดที่เรามีความสนใจมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวัง เพราะฉะนั้น อย่าดูเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรดูเรื่องที่มีความหลากหลาย ถึงแม้ว่าอัลกอริทึม (Algorithm) จะช่วยให้การสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตสะดวก รวดเร็วขึ้น แต่ข้อเสียก็นำไปสู่ปรากฏการณ์ Echo Chamber คือ การเกิดความเชื่อเฉพาะในเรื่องที่สื่อนำเสนอที่ลึกลงไปเรื่อย ๆ จนบดบังความจริงในแง่มุมอื่น ๆ

      ผู้นำทางความคิดจึงมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก “Change Agent” ประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม ได้แก่ ครูในชุมชน พระ ผู้นำชุมชน ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยให้ชุมชนรู้เท่าทันสื่อในเบื้องต้น หากมีการเสริมทักษะให้กับพวกเขาช่วยชุมชน โดยการสำรวจว่า พวกเขามีศักยภาพมากน้อยเพียงใด อยู่ที่ใดกันบ้าง สามารถประสานและเชื่อมต่อกันได้อย่างไรบ้าง จะทำให้เกิดกลกไกการขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้คนทุกกลุ่มวัยในสังคมไทย ดังแนวคิดของกระทรวงวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกของชุมชนที่เรียกว่า “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน 3 กลุ่มนี้ สามารถทำงานกับกลุ่มเป้าหมายได้ทุกวัย จากการศึกษามีข้อมูลที่น่าสนใจในกลุ่มพระ โดยเฉพาะพระนักเทศน์ที่ทำงานร่วมกับชุมชน สอนคนในชุมชน ส่งผลในมุมกว้าง แต่ก็ยังมีบางส่วนอาจมองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์

      ในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ “Digital Literacy” พึงระลึกเสมอว่า อะไรที่ดูดีเกินไป ไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ ไม่คล้อยตามกับสิ่งที่ได้ยินและได้เห็นง่าย ๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นประจำ จะเรียนรู้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวไม่พอ ควรมีทักษะความรอบรู้ด้าน AI ด้วยเช่นกัน นั่นคือ AI Literacy เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น รู้ว่าไม่ควรพูดต่อล้อต่อเถียงกับมิจฉาชีพเกิน 2 นาที เพราะจะทำให้มิจฉาชีพใช้ AI จับเสียงของเราไปหลอกคนที่เรารู้จัก เพื่อหลอกให้โอนเงิน ดังนั้น เราต้อง 1. อย่าคุยกับมิจฉาชีพเพื่อคลายเหงา 2. ตั้งคำถามเพื่อจับพิรุธผู้อยู่ปลายสาย ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้ที่โทรมาเป็น AI หรือไม่ โดยถามไปเรื่องอื่น ๆ เช่น ให้บอกวิธีการทำอาหาร วิธีปลูกต้นไม้ หากเป็น AI เมื่อถูกคำสั่งก็จะทำการโต้ตอบโดยอัตโนมัติก็จะทำให้เรารู้ว่าเสียงปลายสายไม่ใช่เสียงคนแน่นอน 3. ผู้สูงอายุไม่ควรแชร์ข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่ายลูกหลานลงในโซเชียล ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกมิจฉาชีพลักลอบนำไปใช้สร้างความเสียหายได้ เช่น นำข้อมูลไปทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ 4. หลีกเลี่ยงการพูดคุยแบบเห็นหน้า หรือ วิดีโอคอล มิจฉาชีพจะนำวิดีโอนั้นไปตัดต่อได้ 5. ห้ามคลิกลิงก์ หรือกดลิงก์ที่มาจากข้อความสั้น หรือ SMS โดยที่ไม่เช็คข้อมูลก่อนเด็ดขาด รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ พึงระลึกเสมอว่า “ของดีราคาถูกไม่มีอยู่จริง”

      จากการสำรวจของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2564-2566 เป็นต้นมา ชี้ให้เห็นแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุตกที่เป็นเหยื่อของการหลอกลวงจากสื่อเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ จากข้อมูลในปี 2566 พบว่าผู้สูงอายุกว่า 70% ซื้อของไม่มีคุณภาพ และเกือบ 15% มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ยังพบว่า ผู้หญิงสูงอายุ 60 – 69 ปี เสียรู้เรื่องการซื้อของไม่มีคุณภาพ และเสียรู้เรื่องการลงทุนมากกว่าผู้ชายสูงอายุ ในขณะที่ผู้ชายอายุ 60 – 69 ปี เสียรู้เรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ชายอายุ 70 – 79 ปี เสียรู้เรื่องการบำรุงร่างกาย และเรื่องการทำบุญสุนทาน เป็นต้น ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้สูงอายุที่เป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นนี้ เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะสวนทางกับการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้พยายามหาวิธีการป้องกัน ด้วยการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านวิดีโอคลิป ผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย แต่จำนวนผู้ถูกหลอกลวงก็ไม่ลดลงเลย จึงสันนิษฐานได้ว่า มิจฉาชีพก็มีการพัฒนารูปแบบกลโกงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

      ดังนั้น ภาครัฐควรผลักดัน 2 มิติพร้อมกัน คือ การป้องกัน การเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันดิจิทัล เท่าทัน AI และการปราบปรามที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว การเพิ่มโทษของผู้ทำผิดให้รุนแรงมากขึ้น หรือภาครัฐอาจจะต้องไปเจรจากับองค์กร หรือบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและพัฒนาซอฟท์แวร์รายใหญ่ เพื่อช่วยในการป้องกันผ่านระบบที่ให้บริการ ก็จะสามารถรักษาความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง ในส่วนของสถาบันการศึกษาหรือองค์กรต่าง ๆ ควรเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุให้รู้เท่าทันสื่อ ด้วยศักยภาพที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของสถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ควรเตรียมให้เขาทราบข้อมูลก่อนถึงวัยเกษียณ หรือระหว่างที่เขาใช้ชีวิตในการทำงาน เขาเหล่านั้นรู้เท่าทันสื่อหรือไม่ จากจุดเล็ก ๆ ตรงนี้ สามารถนำไปขยายเพื่อเป็นประโยชน์ในมุมกว้างได้

      สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความสำคัญการรู้เท่าทันสื่อเพื่อ
สังคม จึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ มุ่งเน้นฝึกทักษะรู้ทันสื่อตามโมเดล/คาถารู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” อย่างเป็นรูปธรรม (เข้าถึงทาง https://www.iceml.org/course) เพื่อให้ผู้สูงอายุจดจำและปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน หรือคนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนได้ด้วยตนเอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรเป็นบทเรียนออนไลน์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้สูงอายุและกลุ่มคนวัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุเท่าไหร่ก็ตาม สามารถเข้าไปศึกษาบทเรียนออนไลน์นี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถือได้ว่าเป็นวัยก่อนสูงอายุ (Pre-aging) สามารถใช้ประโยชน์จากบทเรียนออนไลน์นี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณอย่างปลอดภัย

      ท้ายนี้ ลูกหลานหรือคนใกล้ตัวควรสังเกตพูดคุยกับผู้สูงอายุในบ้านอยู่เสมอ หมั่นให้ความรู้ในเรื่องใหม่ ๆ ที่ผู้สูงอายุไม่ถนัด เพื่อป้องกันการโดนหลอกจากมิจฉาชีพ และเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานจากอินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียล และรับข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย


เรียบเรียงบทความ โดย คุณสาธิดา ศรีชาติ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป