มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 74 ปี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
27/12/2023สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สร้าง “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” ตอบโจทย์ทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติในระดับประเทศ
05/01/2024เผยแพร่: 29
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงวิสาข์สิริ ตันตระกูล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
การนอนหลับเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมทั้งเรื่องภาวะอารมณ์ ภาวะจิตใจ ได้พักผ่อนเรื่องสมอง รวมทั้งด้านจิตใจในทุกส่วนของร่างกายเรา เพื่อทำการซ่อมแซม ฟื้นฟู การเจริญเติบโต หลังจากตื่นนอน ทำให้มีสมองแจ่มใส มีร่างกายที่แข็งแรง หากนอนหลับไม่เพียงพอจะพบปัญหาจากการนอนหลับ นำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ เป็นต้น
ช่วงเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย วัยผู้ใหญ่ ประมาณ 7–8 ชั่วโมง วัยเด็ก วัยเล็ก วัยเรียน ต้องการการนอนหลับมากหน่อย ประมาณ 10–11 ชั่วโมง วัยรุ่น ประมาณ 8–9 ชั่วโมง วัยสูงอายุ ประมาณ 7 ชั่วโมง ผู้สูงอายุยังสามารถนอนหลับในช่วงกลางวันได้อีกด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นปริมาณการนอนหลับที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย หากนอนหลับไม่พอจะส่งผลต่อระบบประสาท
การอดนอนเรื้อรังทำให้เกิดปัญหาในการเจริญเติบโตในเด็ก หรือการปฏิบัติหน้าที่ในการทำงานต่าง ๆ ในผู้ใหญ่ ส่งผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่พบได้ทุกวัย หากเป็นเรื้อรัง มากกว่า 1–3 เดือนขึ้นไป แล้วไม่หาย ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดกับการนอนหลับ ภาวะเครียดกับการใช้ชีวิตประจำวัน ประกอบกิจวัตรประจำวันได้ลดน้อยลง หากนอนไม่หลับมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ขึ้นไป ควรที่จะพบแพทย์ อาการนอนไม่หลับเป็นลักษณะของการที่เราเข้านอนแล้วสามารถจะหลับได้ แต่ไม่สามารถหลับได้ภายใน 30 นาที ซึ่งเป็นอาการนอนไม่หลับเป็นได้ทั้งการเริ่มต้นหลับครั้งแรก ตื่นก่อนเวลาที่เราจะตื่นตามปกติ หรือตื่นกลางดึกแล้วกลับไปหลับไม่ได้ แต่หากเป็นมากกว่า 3 เดือน เริ่มเข้าสู่ภาวะการนอนไม่หลับ
โรคที่พบบ่อยจากปัญหาของการหลับ ได้แก่ โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ทั้งนี้ อาการนอนกรน ตื่นบ่อย ปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน กลางวันจะรู้สึกง่วงนอน ทำให้ความจำไม่ดี สิ่งนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยทั้งคนวัยทำงานและในผู้สูงอายุ สำหรับชั่วโมงการนอนของผู้สูงอายุจะใกล้เคียงกับวัยทำงาน แต่ลักษณะวงจรนาฬิกาชีวิตของผู้สูงอายุจะขยับเร็วขึ้น เป็นลักษณะนอนเร็วและตื่นเร็ว เช่น นอนเวลา 20.00 น. ตื่นเวลา 03.00–04.00 น. เป็นต้น เพราะจังหวะนาฬิกาชีวิตของผู้สูงอายุแต่ละคนไม่เท่ากันและมีความแปรปรวน (Advanced Sleep Phase Syndrome) หากผู้สูงอายุนอนไม่เป็นเวลา เข้านอนก่อนที่จะง่วง หรือเข้านอนเมื่อเวลานอนผ่านไปแล้ว แต่ยังคงมีระยะเวลาการนอนประมาณ 6–7 ชั่วโมง ที่จะไม่ทำให้คุณภาพการนอนเปลี่ยนแปลงและไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติสำหรับวัย อีกทั้ง ยังสามารถทำกิจวัตรประจำตัว เช่น ฟังรายการวิทยุ อ่านหนังสือ หรือลุกขึ้นมาออกกำลังกายเบา ๆ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของวันได้ สำหรับกรณีของเด็กวัยรุ่นนาฬิกาชีวิตจะเป็นอีกแบบ ซึ่งเป็นในช่วงวัยของเขา นอนดึกตื่นสาย อาจจะนอนหลังเที่ยงคืน ตื่นในช่วงเวลา 07.00-08.00 น. เป็นต้น ในส่วนของวัยทำงาน นอนดึกเที่ยงคืน และตื่นในช่วงเวลา 05.00–06.00 น. เป็นต้น
การนอนหลับเป็นสิ่งที่ส่งเสริมสุขภาพของคนเราในระยะยาว นอกจากการออกกำลังกาย การพักผ่อน การกินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การที่ได้ผ่อนคลายความเครียดจากการนอน การนอนหลับยังช่วยส่งเสริมให้เรามีสุขภาพดีในระยะยาว หากเรานอนหลับได้ไม่ดีก็ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาหาเราได้ในระยะยาว รวมถึงการที่เราประกอบกิจวัตรประจำวัน หากนอนหลับไม่ดี ก็จะทำงานได้ไม่ดีด้วย ทำให้มีภาวะอารมณ์ที่ไม่ดี มีภาวะง่วงนอน นำไปสู่ปัญหาอันตรายของชีวิตได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากหน้าจอมือถือก่อนเข้านอน เพราะแสงที่เข้าตา ทำให้หลับได้ไม่ดี มีอาการหลับๆ ตื่น ๆ ปัญหานี้มักพบบ่อยในชีวิตปัจจุบันของคนทั่วไป หากเป็นไปได้ก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง ควรงดการใช้มือถือ เนื่องจากปัญหาการกระตุ้นของแสงทำให้การนอนหลับแย่ลง จะกระตุ้นระบบนาฬิกาชีวิตส่งผลให้นอนดึกขึ้นไปอีก และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อไปในอนาคต
เรียบเรียงบทความ โดย คุณสาธิดา ศรีชาติ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป