บทบาทของพ่อแม่ในการสร้างพัฒนาการลูกน้อยด้วยการสอนวินัยเชิงบวก (Positive discipline)
01/07/2022
ราคาของการมีลูก: คนที่สองต้องไม่แพงเท่าคนแรก
01/07/2022

TOD แนวทางการพัฒนาเมือง และชุมชนอย่างยั่งยืน

วันที่ 17 เม.ย. 2565 เวลา 14:38 น.

โดย ดร.สมศิริ เซียววัฒนกุล

**********************

โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งถือเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาและขยายเมือง การพัฒนาเมืองแบบ Transit Oriented Development (TOD) หรือหนึ่งในแนวคิดการพัฒนาเมืองและชุมชนเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง มีการกำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างชุมชนคุณภาพ น่าอยู่อาศัย น่าลงทุนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการเดินทาง เข้า-ออกพื้นที่ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมการเดินทางในพื้นที่ด้วยการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ หรือใช้การเดินทางสาธารณะ (1) Concept การบริหารเมืองของ TOD คือ การปรับเปลี่ยนการขยายตัวของเมืองแบบกระจัดการจายให้เป็นเมืองกระชับ ด้วยการพัฒนาพื้นที่อย่างมีขอบเขตและแนวทางซึ่งจะช่วยลดภาวะการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง

Transit Oriented Development (TOD) จะช่วยแก้ปัญหาเมือง และมีประโยชน์ต่อชุมชน ดังนี้ ภาครัฐจะมีแนวทางในการบริหารจัดการเมืองที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม การเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นขนส่งสาธารณะ จะช่วยลดการก่อให้เกิดมลพิษด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเดินเท้า หรือการปั่นจักรยาน ภายในบริเวณโดยรอบของการขนส่งสาธารณะเพื่อลดการเดินทางโดยใช้เครื่องยนต์ และส่งผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ทางด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นก็จะมีการพัฒนาให้ลงตัวกับทุก Life Style การใช้ชีวิต ทั้งย่านพักอาศัย ย่านการค้า ย่านธุรกิจ และพื้นที่สาธารณะ มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการใช้พลังงาน และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน

TOD Concept

TOD ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาการเติบโตของเมืองแบบกระจัดกระจายแล้ว ยังสามารถช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติเสนอวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) นั่นก็คือ SDG 11: Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (Make cities and human settlements inclusive, safe, resilient and sustainable) มีเป้าประสงค์ครอบคลุมในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเมืองและชุมชน และ SDG 13 : Climate Action ทุกประเทศในโลกล้วนประสบกับผลกระทบอันรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศ ซึ่งหากไม่เริ่มดำเนินการอย่างทันท่วงทีจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2)

Guidelines for Sustainable Development สำหรับประเทศไทย การพัฒนาเมืองแบบ TOD มีการดำเนินการในหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยในปัจจุบันมีโครงการที่มีความคืบหน้าและปัจจัยแวดล้อมที่จะทำให้เมืองหรือชุมชนนั้นเติบโตแบบ TOD อยู่หลายแห่ง อาทิ สถานีรถไฟ Airport Link มักกะสัน สถานีรถไฟฟ้าธนบุรี-ศิริราช รวมถึงหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างขอนแก่นและพัทยา ที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่ดำเนินการโดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ซึ่งแนวทางการพัฒนาเมืองแบบ TOD นี้ ต้องได้รับความร่วมมือจาก ฝ่าย ได้แก่

1. ภาครัฐ ร่วมผลักดัน ดูแลด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจการพัฒนาแบบ TOD ร่วมถึงการแก้ไขกฎหมาย และข้อบังคับต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุน

2. ภาคเอกชน ร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมร่วมลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมต่าง ๆ

3. ภาคประชาสังคม ร่วมใจ ร่วมเสนอแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและพฤติกรรมในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ขนส่งสาธารณะ และการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ และสิ่งที่สำคัญคือ ร่วมกันให้ข้อมูลและเสนอความต้องการที่เป็นประโยชน์และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนโดยรอบของตนเอง(1)

ชุมชนตลาดศาลายา ถือเป็นภาคประชาสังคมหนึ่งที่มีความกระตือรือร้น และสนใจในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ รวมถึงพื้นที่เชื่อมต่อของสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (ศาลายา-บางซื่อ-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) โดยย่าน “สถานีศาลายา” เป็นชุมชนที่มีความพร้อมทั้งสถาบันการศึกษา สถานพยาบาล สถานที่ท่องเที่ยว และตลาด อีกทั้งเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีรูปแบบการเดินทางที่ครอบคลุมทั้งทางรถ ทางเรือ และทางรถไฟ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงศาลายา เป็นไปอย่างมีแบบแผนตามการบริหารเมืองแบบ TOD ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองและชุมชนควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ความต้องการ Life Style ของคนในพื้นที่ ผู้เข้ามาใช้พื้นที่อย่างคนทำงานหรือนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงการสร้างความตระหนักภายในชุมชนถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการมาถึงของสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงศาลายา

โดยกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ตลาดศาลายา จำกัด และ บริษัท Nippon Koei จากประเทศญี่ปุ่น จึงร่วมกันจัดโครงการประกวดแนวความคิดการออกแบบหัวข้อ “ตลาดศาลายายุคใหม่ เชื่อต่อรถไฟฟ้า เพื่อชุมชนน่าอยู่ และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” โดยมีขอบเขตของพื้นที่ครอบคลุมตลาดศาลายา โครงการเชิงพาณิชย์ในอนาคตของมหาวิทยาลัยมหิดล และชุมชนที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟศาลายา

มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในภาคีสำคัญของชุมชนรอบสถานี จึงได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีหน้าที่ในการผลิตบุคลากร และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไปพัฒนาและรองรับระบบรางของประเทศ ทั้งด้านการ Operation การบริหารระบบรางและการเดินรถ การเชื่อมต่อระบบรางและการเดินทางในรูปแบบอื่น รวมถึงการสร้างความตระหนกรู้ถึงความสำคัญของระบบราง เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของตลาดศาลายานี้ และถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็นผู้นำด้านสุขภาวะเชิงนโยบายระดับชาติและนานาชาติที่สามารถชี้นำสังคมได้

โครงการประกวดดังกล่าวได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปของการพัฒนาเมืองแบบ TOD ของศาลายาจะมองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำเอาผลงานเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ชุมชนคนศาลายา จะร่วมกันพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้ชุมชนรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังรถไฟฟ้าสายสีแดงเดินทางมาบรรจบกับรถไฟที่สถานี “ศาลายา”

ผลการตัดสินโครงการประกวดแนวความคิดการออกแบบหัวข้อ “ตลาดศาลายายุคใหม่ เชื่อต่อรถไฟฟ้า เพื่อชุมชนน่าอยู่ และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”

รางวัลที่ 1 นางสางวัชราภรณ์ กวยกือ และ นายพิษณุวัตณ์ อินทสันต์ นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

 

รางวัลที่ 2 นายนิรวิทธ์ กาติ๊บ และ นายวีรวัฒน์ ตาเจ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

 

รางวัลที่ 3 นางสาวนิฤมล สุขเอี่ยม และ นางสาวผกามาศ ช่วยสุข คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

 

รางวัลชมเชย อันดับที่ 1 นายณัฐนนท์ กลางแก้ว นางสาวเฌอวารินทร์ อินทร์แก้ว และ นางสาวอภิชยา อุปพงษ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี

 

รางวัลชมเชย อันดับที่ 2 นายกัมพล นรายะเศวต และ นายไกรสร พรมโลก มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี

 

รางวัลชมเชย อันดับ 3 นางสาวกัลยาณี ปละอุต นางสาวสุดารัตน์ เม่นสุวรรณ และ นางสาวธัญญรัตน์ ไชยบุตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ

 

รางวัลชมเชย อันดับ 4 นางสาววิไลลักษณ์ งามขำ นางสาวอริยา เมฆแสง และ นางสาวโสธญา สง่าศรี วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

อ้างอิง 1. TOD คมนาคมสร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้ http://thailandtod.com/Whatistod.html และ 2. SDG MOVE (Moving Towards Sustainable Future) https://www.sdgmove.com/


เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กรกองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณกณิศอันน์

ให้คะแนน
PR
PR