รอยร้าวที่ฐานราก…ความเปราะบางของครอบครัวไทยในอนาคต
01/07/2022
วิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า กับ วิ่งบนถนนแตกต่างกันอย่างไร
01/07/2022

“สื่อจอใส” ภัยร้ายกระทบต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กในยุคดิจิทัล

วันที่ 02 ม.ค. 2565 เวลา 09:35 น.

โดย….อ.ธาม เชื้อสถาปนศิริ

*********************************

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัล (สื่อจอใส , สื่ออิเล็กทรอนิกส์) เป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตต่อผู้คนในยุคปัจจุบันในหลาย ๆ ด้าน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยผลสำรวจชี้ชัดว่า แนวโน้มการใช้สื่อดิจิทัลในเด็กปฐมวัยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณ คือ จำนวนชั่วโมงที่ใช้ต่อวันสูงขึ้น และเกณฑ์อายุของผู้ใช้งานที่ลดน้อยลงมีปริมาณสูงขึ้น ในเชิงคุณภาพ คือ มีการใช้งานในคุณภาพที่ต่ำลง เนื่องจากสื่อดิจิตอลเป็นสื่อที่หลอมรวมทุกสื่อมาไว้ในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และเกมส์ จนทำให้สื่อรูปแบบอื่น ๆ ถูกละทิ้งไปจากชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ยังหลอมรวมเอากิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาด้วย เช่น การเรียนออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ เพราะทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้น สื่อดิจิตอลจึงถือเป็น Disruptive Technology เพราะสามารถทำลายล้างพฤติกรรมเดิมของมนุษย์และในขณะเดียวกันก็สร้างพฤติกรรมใหม่ขึ้นมาแทนที่ ในเด็กปฐมวัยจึงได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองส่วมนใหญ่ใช้สื่อดิจิทัลตลอดเวลา พกพาไปได้ง่ายในทุกที่ ทำให้เด็กเด็กเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นพฤติกรรมการเสพติดสื่อดิจิทัลขึ้น

การเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เด็กต้องใช้สื่อดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นตัวเร่งเร้าให้เด็กจำเป็นต้องเข้าถึงสื่อดิจิทัลเร็วขึ้นก่อนวัยอันควร ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทำลายปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย อีกประเด็นหนึ่งที่คนให้ความสำคัญกันน้อย แต่อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กเสพติดสื่อดิจิตอล คือ กิจกรรมกลางแจ้งเริ่มมีราคาแพงมากขึ้น หมายความว่าการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น พื้นที่เรียนรู้ของเด็ก ฯลฯ ทำได้ยากมากขึ้น เพราะพื้นที่สาธาณประโยชน์ลดน้อยลง พื้นที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นของเอกชนมากขึ้น

ทำให้กิจกรรมสันทนาการพื้นที่นอกบ้านของเด็กหายตามไปด้วย ถูกเปลี่ยนไปเป็นของเล่นพลาสติก เดินในห้างสรรพสินค้า เข้าร้านกาแฟหรือสวนสนุกแทน การเข้าถึงพื้นที่เล่นเรียนรู้ของเด็กจึงมีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้เด็กส่วนใหญ่หันมาเล่นโทรศัพท์มือถือซึ่งเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กในปัจจุบันเป็น “โรคขาดธรรมชาติ” (Nature-Deficit Disorder) มากขึ้นเพราะพื้นที่ธรรมชาติถูกจำกัด แม่มีความหวัดกลัวที่จะให้ลูกอยู่นอกบริเวณบ้าน ประกอบกับลักษณะเด่นของเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้เกิดความลุ่มหลง ดึงดูดความสนใจ และตรึงเวลาผู้ดู จึงเป็นเหตุผลที่บอกได้ว่าทำไมเด็กจึงติดสื่อดิจิทัลมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ปัจจัยการเลี้ยงดูก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ อาจเป็นตัวผลักดัน ส่งเสริมให้ลูกหันมาใช้สื่อดิจิตอล มากขึ้นได้ โดนเราแบ่งลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ไว้ได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. การเลี้ยงดูแบบอำนาจนิยม (Authoritarian) พ่อแม่ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจบังคับ ทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้เลือกเจรจาต่อรองและแสดงความต้องการของตนเองได้

2. การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ดูแล (Authoritative) พ่อแม่กลุ่มนี้จะดูแลลูกเป็นอย่างดีมีเวลาให้กับลูกได้มากพอสมควร

3. การเลี้ยงดูแบบตามใจ (Permissive) ลูกเรียกร้องอะไรก็ได้ทั้งหมด เป็นกลุ่มที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก เป็นกลุ่มพ่อแม่ที่มีจำนวนมากที่สุดในปัจจุบัน

4. การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย (Neglectful) พ่อแม่ไม่ตอบสนองต่อเด็ก ไม่เข้าใจเด็ก ไม่สนใจเด็กเลย เรียกร้องอะไรก็ไม่ได้เคยได้

จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงดูแบบอำนาจนิยม เลี้ยงดูแบบตามใจ และเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย มีโอกาสทำให้เด็กเครียด เพราะไม่มีพื้นที่ระบายความคับข้องใจ ส่งผลให้เด็กมีโอกาสหันไปเสพติดสื่อดิจิทัลมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของเด็กที่อยู่กับผู้เลี้ยงดูรอง (ปู่ ย่า ตา ยาย) ในเชิงจิตวิทยาพบว่า ปู่ ย่า ตา ยายจะไม่ใช้ระเบียบวินัยอย่างเข้มงวดกับเด็ก เนื่องจากตนเองเริ่มมีกำลังวังชาถดถอย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น อีกทั้ง ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เป็นผลให้คุณภาพการเลี้ยงดูในเชิงระเบียบวินัยความเข้มงวดลดลงไปด้วย ทำให้เด็กขาดกิจกรรมพาเล่น พาทำ จากผู้เลี้ยงดู ประกอบกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 พ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน อาจไม่ได้กลับบ้าน มีโอกาสเจอลูกน้อยลง ทำให้เข้าถึงช่วงเวลาที่จะเลี้ยงลูกน้อยลงตามไปด้วย อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่จะทำให้เด็กเสพติดสื่อดิจิทัลได้เช่นกัน

แน่นอนว่า เด็กปฐมวัยที่ติดสื่อดิจิทัลได้รับผลกระทบหลายประเด็นด้วยกัน และอาจเป็นประเด็นที่เราอาจคาดไม่ถึงด้วยซ้ำ เพราะบางเรื่องเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ยกตัวอย่าง เช่น การเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กที่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ มีผลให้เด็กต้องใช้เวลาต่อหน้าจอ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าของสมอง กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คุณภาพการนอนน้อยลง วงจรชีวิตเปลี่ยนไป ชั่วโมงการสันทนาการหายไป ถูกทดแทนด้วยการอยู่ที่บ้านทำให้เด็กขาดวินัยไม่มีผู้ปกครองคอยพาทำและนำพาได้ สร้างความเครียดความกดดันให้เด็ก ในเด็กบางกลุ่มจะมีภาวะ “นั่ง เนือย นิ่ง” (Sedentary Behavior) เด็กนั่งแช่นิ่งอยู่กับหน้าจอเป็นเวลาหลายชั่วโมง ไม่มีโอกาสออกไปขยับเขยื้อน ร่างกายเหมือนวิชาพละส่งผลให้เด็กกินมากขึ้น เป็นโรคอ้วนมากขึ้น เสี่ยงต่อโรคความดัน โรคหัวใจได้ด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษาตามมาด้วย เพราะสื่อดิจิทัลเป็นการสื่อสารทางเดียวไม่เกิดปฏิสัมพันธ์ 2 ทาง ทำให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กล่าช้านำไปสู่ พัฒนาการด้านสังคมช้าตามไปด้วย เพราะเด็กไม่สามารถแสดงอารมณ์ที่ตนเองต้องการได้

สุดท้ายนี้ มีคำแนะนำในการใช้สื่อดิจิตอลอย่างสร้างสรรค์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับเด็กปฐมถมวัย ดังนี้

1. เด็กแรกเกิด ไม่อนุญาตให้ใช้สื่อดิจิตอลกับเด็กกลุ่มนี้เลยแม่ว่าจะโดยทางตรง หรือโดยอ้อม จะเริ่มใช้ได้ก็ต่อเมื่อเด็กมีอายุเกิน 6 เดือนไปแล้ว

2. เด็กปฐมวัย แนะนำให้ใช้หลักการ “หน่วง-ถ่วง-รอ” ระยะเวลาให้เนิ่นนานออกไปในวัยโตให้ที่สุด ไม่ใช้สื่อดิจิตอลมาเป็นเครื่องมือต่อรอง หรือเป็นเงื่อนไขรางวัล ถ้าเด็กจะดูสื่อพ่อแม่ควรนั่งดูและให้คำแนะนำ ไปพร้อมกับลูกด้วย ควรมีการจำกัดเวลาในการใช้สื่อในแต่ละครั้งของเด็กอย่างเหมาะสม

3. เด็กโต อนุญาตให้มีบัญชีโซเชียลมีเดียได้ และต้องแบ่งเวลาให้ถูกต้องชัดเจน เวลาเล่น (Play Time) ต้องมากกว่า เวลาที่ใช้หน้าจอ (Screen Time) สร้างระเบียบวินัยในการใช้งานให้กับเด็ก เพื่อลดการเสพติดสื่อดิจิทัล

จะเห็นได้ว่า “การใช้สื่อดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทและแทรกซึมในชีวิตประจำวัน มีผลต่อการดำเนินชีวิต และการพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการดูแลบุตรหลานอย่างถูกวิธี เพื่อให้เด็กรู้จักปรับตัว และเติบโตขึ้น สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณศรัณย์

3/5 - (2 votes)
PR
PR