สถานการณ์โควิด-19 กับผลกระทบที่มีต่อพฤติกรรมสุขภาพด้านการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย
27/06/2022
เติมความรู้แรงงานต่างด้าวดูแลตนเองและผู้สูงอายุในยุคโควิด-19
28/06/2022

“ภาวะลำไส้รั่ว” ภัยร้ายที่มากับพฤติกรรมการกินอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน

วันที่ 14 มี.ค. 2564 เวลา 10:30 น.

โดย ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน

*****************************

“ภาวะลำไส้รั่ว” เกิดจากการใช้งานของลำไส้เล็ก อาจส่งผลทำให้เซลล์ย้วยหรือห่างออกจากกันได้ ร่างกายจึงต้องมีกลไกเพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างเซลล์เข้าไว้ด้วยกัน จึงมีโมเลกุลโปรตีนหลายชนิด เช่น occludin, claudins, junctional adhesion molecules และ tricellulin ทำหน้าที่ซีลรอยต่อระหว่างสองเซลล์ที่อยู่ข้างกัน จึงเกิดเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า ‘Tight junction’ ขึ้น โครงสร้างนี้ทำให้เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้แต่ละเซลล์เรียงตัวชิดติดกันอย่างแนบแน่น หากเปรียบเทียบคล้ายกับพรมชิ้นเล็ก ๆ ที่ถูกเย็บติดไว้ด้วยกันอย่างแน่น บทบาทของโครงสร้าง Tight junction คือ ควบคุมการผ่านเข้าออกของสารต่าง ๆ (Intestinal permeability) เช่น น้ำและอาหารที่ย่อยเสร็จแล้ว ทำหน้าที่เสมือนเป็นปราการป้องกัน (intestinal epithelial barrier) ไม่ให้สารพิษ เชื้อก่อโรค สิ่งแปลกปลอมผ่านรอยต่อระหว่างเซลล์เข้าไปสู่กระแสเลือดได้โดยตรง

แต่เมื่อผนังลำไส้เกิดการอักเสบซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซีลที่เชื่อมรอยต่อระหว่างเซลล์ถูกทำลาย โครงสร้าง Tight junctions เกิดความเสียหาย เซลล์ผนังลำไส้จากเดิมที่เคยเรียงตัวชิดติดกันแน่น ก็จะขาดออกจากกัน เกิดเป็นช่องว่างระหว่างเซลล์ ส่งผลให้สารพิษ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราเชื้อยีสต์ สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เล็ดลอดผ่านช่องว่างเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือดโดยไม่ผ่านการกรอง เมื่อลำไส้สูญเสียความสามารถในการควบคุมการเข้าออกของสาร ยอมให้สิ่งผิดปกติผ่านเข้าออกผนังลำไส้ได้โดยง่าย ทางการแพทย์จึงเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะลำไส้รั่ว” (Leaky Gut Syndrome) เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่กระแสเลือด ร่างกายจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน จนเกิดการอักเสบเรื้อรังซ้ำซาก กลายเป็นโรคและอาการเจ็บป่วยตามมา

จากการวิจัยพบว่าภาวะลำไส้รั่วมีความสัมพันธ์กับ “การแพ้อาหารแฝง” หรือ Delayed Type Food Allergy สาเหตุจากอาหารและยาที่ต้องสัมผัสกับลำไส้อยู่เป็นประจำทุกวัน อาหารหลายชนิดที่เป็นตัวกระตุ้นการอักเสบของผนังลำไส้ เช่น อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง ทำให้ร่างกายสร้างกรดขึ้นมาทำลายผนังลำไส้ และยังเป็นแหล่งอาหารให้เชื้อก่อโรคเพิ่มจำนวน และก่อกวนจนผนังลำไส้รั่วได้ หรืออาหารจำพวกข้าวสาลี ขนมปัง ที่มีกลูเตน (Gluten) และผลิตภัณฑ์นม เนย ชีสต่าง ๆ ที่มีแลคโตส (Lactose) อาหารประเภทนี้เป็นอาหารที่พบการแพ้ได้สูงมากในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งยาบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ที่รู้จักกันดีก็ เช่น Amoxycillin Norfloxacin Erythromysin หรือ Tetracycline

เมื่อรับประทานยาเหล่านี้ไปนาน ๆ ยาจะกำจัดจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ไปจนหมด ผลตามมา คือ เชื้อแบคทีเรียจะก่อโรค เชื้อรา ก็จะมาอาศัยในลำไส้แทน เชื้อจำพวกนี้ยังสร้าง Toxins มาทำลาย Tight junction จนเสียไป การเสียความสมดุลของจุลินทรีย์ดีที่คอยทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผนังลำไส้ จึงทำให้ผนังลำไส้อ่อนแอลงและเสี่ยงต่อภาวะลำไส้รั่วง่ายขึ้น ยาอีกกลุ่มที่พึงระวัง คือ ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น Indomethacin Naproxen หรือ Ibuprofen ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหาร  และจากการศึกษาวิจัยพบว่าสามารถทำลายซีลระหว่างเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ได้ด้วย ทำให้สารพิษและเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมาในอาหารสามารถผ่านช่องว่างเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย

จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ผิดไปจากวิถีเดิมของคนยุคปัจจุบัน อีกหนึ่งสาเหตุของภาวะลำไส้รั่ว ไม่ว่าจะเป็น ความเครียดเรื้อรัง พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารซ้ำ ๆ เดิม ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะอาหารแปรรูป ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารและวิตามินอย่างครบถ้วนแล้ว ยังทำให้ลำไส้ต้องสัมผัสกับสารพิษตกค้าง จากยาฆ่าแมลง และสารปรุงแต่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อรับประทานเข้าไป เกิดการสะสมมากขึ้น ก็จะทำลายผนังลำไส้ในที่สุด การแพ้อาหารแฝงจะแตกต่างจากการแพ้อาหารปกติ  (IgE-mediated Food Allergy) โดยทางการแพทย์จะเรียกการแพ้รูปแบบนี้ว่า ‘Immume Complex-mediated Hypersensitivity’ คือ ร่างกายคิดว่าอาหารเป็นสิ่งผิดปกติ เม็ดเลือดขาวก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน IgG Antibody ไปดักจับอาหาร ก่อตัวเป็นก้อนโมเลกุลภูมิคุ้มกันที่ซับซ้อน หรือ “อิมมูนคอมเพล็กซ์” ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังตามมา

ดังนั้น ภายหลังรับประทานอาหาร การแพ้อาหารแฝงจะไม่แสดงอาการแพ้รุนแรงให้เห็นทันที แต่มักจะเป็นเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ทันสังเกต เช่น อาการท้องอืด แน่นท้อง มีลักษณะเหมือนอาหารไม่ย่อย บางรายอาจมีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูกเป็นประจำ หรือผู้ที่รู้สึกว่ารับประทานอะไรนิดหน่อยก็น้ำหนักตัวเพิ่มง่ายผิดปกติ เป็นผู้มีความเสี่ยงต่อภาวะลำไส้รั่วได้เช่นกัน นอกจากนี้ อาจจะพบอาการนอกระบบทางเดินอาหารได้ ขึ้นกับตำแหน่งที่ “อิมมูนคอมเพล็กซ์” เข้าไปสะสม เช่น บริเวณผิวหนัง เกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ หรือบางคนก็จะมีสิวอักเสบขึ้น หลังรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป แต่มักจะเป็นหลังรับประทานอาหารนั้น ๆ ไปแล้วเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน จนลืมไปว่าตัวเองรับประทานอะไรไปบ้าง ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการแพ้อาหารแฝง และมีจุดที่น่าสังเกต คือ อาหารที่แพ้มักจะเป็นอาหารที่รับประทานบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ และอาการก็จะเกิดขึ้นประจำ หากยังรับประทานอาหารแบบเดิม ๆ

จากการศึกษาวิจัยค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างภาวะลำไส้รั่วกับโรคในระบบภูมิคุ้มกันที่รักษาไม่หายขาดหลายโรค เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome; IBS) โรคทางเดินอาหารอักเสบ (Crohn’s disease) โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคแพ้ภูมิตนเอง (Systemic Lupus Erythematosus; SLE) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) และโรคภูมิแพ้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น อาจมีภาวะลำไส้รั่วมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะว่า มีผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อทำการรักษาภาวะลำไส้รั่วให้ดีขึ้น พบว่าอาการของโรคดังกล่าวก็ดีขึ้นด้วย

ภาวะลำไส้รั่วยังไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างจำเพาะเจาะจงโดยวิธีการส่องกล้อง กลืนแป้ง หรือภาพถ่ายรังสีที่เราคุ้นเคยกัน เนื่องจากภาวะลำไส้รั่วไม่ใช่ความผิดปกติที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เหมือนอย่างกับโรคในระบบทางเดินอาหารโรคอื่น ๆ การวินิจฉัยในปัจจุบันจึงเป็นเพียงการทดสอบการทำงานของลำไส้ในการดูดซึมสารอาหาร (Lactulose–Mannitol Test) ซึ่งผู้ที่มีภาวะลำไส้รั่ว พบว่าลำไส้มีการดูดซึมสารอาหารได้ลดลง และการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance Test) โดยวิธีการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับ IgG ต่ออาหารชนิดต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้เท่านั้น

ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาภาวะลำไส้รั่วที่เป็นมาตรฐาน ยาที่ใช้รักษาจะเป็นเพียงยาบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเพียงชั่วคราว เช่น อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยก็รับประทานยาลดกรดหรือเอนไซม์ช่วยย่อย มีผื่นผิวหนังอักเสบก็ทายาสเตียรอยด์รักษาผื่นไปตามอาการ แต่การรักษาที่ต้นเหตุของภาวะลำไส้รั่ว คือ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่า โดยปกติแล้ว เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มนุษย์จะมีกระบวนการทำลายเซลล์เก่าและสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน ทุก ๆ 2–6 วัน  หลักการรักษาจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เซลล์ผนังลำไส้เกิดการอักเสบ เพื่อให้เวลาเซลล์ผนังลำไส้ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติ และการปรับสมดุลจุลินทรีย์ดีภายในลำไส้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้จุลินทรีย์ดีเหล่านั้นมาคอยปกป้องลำไส้

สาเหตุของภาวะลำไส้รั่ว เกิดจาก อาหาร ยา โดยเริ่มจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้ลำไส้อักเสบ ได้แก่ เนื้อสัตว์แปรรูป แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน เบเกอรี่ นม เนย ชีส รวมถึงการงดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เน้นการบริโภคผักผลไม้สด อาหารสดให้หลากหลาย ควรเลือกที่ไม่มีสารพิษตกค้าง ลดการใช้ยาพร่ำเพรื่อจากการเจ็บป่วยเล็กน้อย และสำหรับผู้ที่ทราบว่าตัวเองมีการแพ้อาหารแฝงก็จำเป็นต้องงดการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้อย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อให้ร่างกายกำจัดภูมิคุ้มกันที่สร้างมาต่อต้านอาหารที่แพ้ออกไปได้หมด

นอกจากนี้ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้ ได้แก่ จุลินทรีย์ดี ‘Probiotic’ ซึ่งพบในโยเกิร์ต คีเฟอร์ ถั่วหมัก กิมจิ และอาหาร ‘Probiotic’ เช่น กล้วย น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม แก่นตะวัน หอมหัวใหญ่ และมะเขือเทศ เป็นต้น การรับประทานกรดอะมิโน Arginine และ Glutamine วิตามินอี สังกะสี (Zinc) ซีลีเนียม (Selenium) และโอเมก้า–3 (Omega–3) ก็มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่ได้รับบาดเจ็บและลดการอักเสบของลำไส้ได้เช่นกัน

คนอาจจะเข้าใจว่า ถ้าอยากมีสุขภาพดี แข็งแรง อายุยืนยาว ต้องดูแลอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจ ตับ ไต ปอด หรือสมองให้ดี จะมีน้อยคนนักที่จะใส่ใจดูแล ลำไส้ ทั้งที่จริงลำไส้เป็นอวัยวะที่ชี้เป็นชี้ตายของมนุษย์ จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า ลำไส้ไม่ได้เป็นเพียงอวัยวะที่ใช้ย่อยและดูดซึมอาหารเท่านั้น ร่างกายมนุษย์มีระบบประสาทที่ซับซ้อนที่สุดรองจากสมองอยู่ภายในทางเดินอาหาร และยังมีระบบแกนที่เชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างกันของสมองกับลำไส้ (Gut–Brain Axis) ดังนั้น หากเราไม่ดูแลเอาใจใส่ลำไส้ให้ดี รับประทานอาหารตามใจปาก คุณค่าทางโภชนาการต่ำ สารอาหารไม่ครบถ้วน “ลำไส้” จะส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้เรามีปัญหาในการควบคุมความหิว และความอิ่ม เมื่อระบบย่อยอาหารไม่ดี ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และยังก่อเกิดโรคต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 


เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณสาธิดา

3.7/5 - (3 votes)
PR
PR