สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ส่งมอบกระดาษเพื่อสนับสนุนการศึกษา ให้แก่ มูลนิธิเด็กอนุบาลบ้านสานรัก
10/09/2024
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารที่มีปริมาณพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลสูงของเด็กไทย
27/09/2024
สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ส่งมอบกระดาษเพื่อสนับสนุนการศึกษา ให้แก่ มูลนิธิเด็กอนุบาลบ้านสานรัก
10/09/2024
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารที่มีปริมาณพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลสูงของเด็กไทย
27/09/2024

“โภชนาการกับผู้สูงอายุ”

เผยแพร่: 

อาจารย์ประภัสสร พิมพาสาร
ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เหมาะกับช่วงวัยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุนั้น ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีความเสื่อมตามวัย ทำให้สมรรถภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง ส่งผลให้การนำพลังงานไปใช้มีประสิทธิภาพต่ำลง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความเสื่อมในผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลายด้าน ดังนี้

  1. ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารมีประสิทธิภาพลดลง ตั้งแต่สุขภาพปากฟัน ผู้สูงอายุมักมีปัญหาฟันผุหรือไม่มีฟัน รวมทั้งต่อมน้ำลายทำงานลดลงทำให้เกิดภาวะขาดน้ำลาย ทำให้การบดเคี้ยวไม่มีประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุบริโภคเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ลดลง อีกทั้งการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลงทำให้ท้องผูกและอิ่มนาน รับประทานอาหารได้น้อย
  2. การทำงานของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ลดลง ได้แก่ ต่อมรับรส รับกลิ่น มองเห็น ได้ยินและการสัมผัสเสื่อมถอยลง ทำให้มีความอยากอาหารลดลง โดยเฉพาะการทำงานของต่อมรับรสที่เสื่อมส่งผลให้ผู้สูงอายุไวต่อการรับรสเปรี้ยวและขม การรับรสหวานและเค็มลดลง ต้องขอปรุงรสเพิ่มขึ้น ส่งผลเสียต่อการควบคุมปริมาณการบริโภคโซเดียม น้ำตาล จึงทำให้การควบคุมโรคเรื้อรังอาจทำได้ยากขึ้น และอาจก่อให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้
  3. การทำงานของไตที่เสื่อมลงและการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท ทำให้การขับของเสียมีปัญหา ความกระหายน้ำลดลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกกระหายน้ำแม้ร่างกายขาดน้ำ
  4. การมีโรคประจำตัวและการใช้ยา โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ทำให้มีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น อีกทั้งยาบางตัวมีผลต่อความอยากอาหารหรือการดูดซีมสารอาหาร

จากปัญหาความเสื่อมถอยที่กล่าวมาข้างต้น จะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “ทุพโภชนาการ” หรือ ภาวะขาดสารอาหาร คือการที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม สาเหตุเกิดจากภาวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เบื่ออาหาร เคี้ยวกลืนลำบาก สำลักอาหาร การขาดน้ำ เป็นต้น ส่งผลต่อเนื่องกับร่างกายตามมาคือ น้ำหนักลด ภูมิต้านทานในร่างกายลดลง มีอาการท้องเสีย ท้องผูก และร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจส่งผลด้านลบต่อการควบคุมโรคให้เป็นไปตามแผนการรักษา

ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

– ควบคุมแคลอรี่ที่รับประทานในแต่ละวันไม่ให้เกินต่อความจำเป็นของร่างกาย ประมาณ 1,400-1,800 Kcal. /วัน

– รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ใน 1 วัน ควรเป็นอาหารที่สามารถเคี้ยวได้ง่าย ย่อยได้ง่าย รสไม่จัด มีความหลากหลาย และมีกากใยสูง เพื่อช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหารที่ดี

– เสริมโปรตีนให้ร่างกาย เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รักษามวลกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุบริโภคโปรตีนอย่างน้อย 1 g./น้ำหนักตัว 1 kg. เน้นโปรตีนคุณค่าสูง เช่น ไข่ ปลา ไก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม โปรตีนจากถั่วและธัญพืช โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เป็นต้น

– รับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น เนื้อปลา ไข่ ธัญพืช อโวคาโด ฯลฯ ไขมันดีมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุช่วยลดปัญหาไขมันและคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ อีกทั้งยังช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (เช่น วิตามิน A, D, E, K) และหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น เนื้อติดมัน

– ควบคุมการบริโภคโซเดียม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ ลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ

– ดื่มน้ำให้เพียงพอ อยู่ที่ประมาณ 1.5 – 2 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม เครื่องดี่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ

– เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อพลังงานที่ยั่งยืนและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

– ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร และกระตุ้นความอยากอาหารของผู้สูงอายุ การออกกำลังกาย เป็นอีกวิธีที่จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกหิวและมีความอยากอาหารมากขึ้น

– ควรรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อการดูแลโรคเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ “สภาพจิตใจ” ก็มีส่วนสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ การได้รับประทานอาหาร ทำกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมหน้ากันในครอบครัว จะช่วยให้ผู้สูงอายุเจริญอาหารได้ เพราะผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงการป้องกันโรคและคุณภาพชีวิต โภชนาการที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนใกล้ชิดต้องดูแล เอาใจใส่เป็นอย่างดี


เรียบเรียงบทความโดย ศรัณย์ จุลวงษ์