สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ส่งมอบกระดาษเพื่อสนับสนุนการศึกษา ให้แก่ โรงเรียนวัดนครชื่นชุ่ม (กศ.น.) และ โรงเรียนวัดบ้านหลวง (บัวราษฎร์บำรุง)
09/08/2024
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานแสดงนิทรรศการศึกษา “ตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา” ครั้งที่ 26 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
09/08/2024
สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ส่งมอบกระดาษเพื่อสนับสนุนการศึกษา ให้แก่ โรงเรียนวัดนครชื่นชุ่ม (กศ.น.) และ โรงเรียนวัดบ้านหลวง (บัวราษฎร์บำรุง)
09/08/2024
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานแสดงนิทรรศการศึกษา “ตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา” ครั้งที่ 26 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
09/08/2024

Ice Bath: การบำบัดยอดฮิต ฟื้นฟูร่างกายหลังผ่านกิจกรรมหนัก ๆ

เผยแพร่: 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กรกฤษณ์ ชัยเจนกิจ
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและคลินิกกีฬา
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

ในปัจจุบันการฝึกซ้อมกีฬา การออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ออกกำลังกายหนัก ๆ เช่น ไตรกีฬา เทนนิส ฟุตบอล ในทางปฏิบัตินักกีฬากลุ่มนี้จะมีการทำ Ice Bath เป็นประจำอยู่แล้ว หลักการจริง ๆ ของการทำ Ice Bath คือ Cryotherapy (ไครโอเทอราพี) เป็นหลักการของทางเวชศาสตร์การกีฬา Cryo แปลว่า ความเย็น Therapy แปลว่า บำบัด “Cryotherapy” จึงหมายถึงการบำบัดด้วยการใช้ความเย็น โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการนำความเย็นเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายในนักกีฬาหรือคนออกกำลังกาย ซึ่งหลักการทั่วไปเวลาที่ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายและการทำกิจกรรมหนัก ๆ เป็นเวลานาน ร่างกายจะเกิดการเผาผลาญและผลิตความร้อนขึ้น เนื่องจากมีการใช้พลังงานและเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งความร้อนนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนล้า รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายลดลง ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือ การลดอุณหภูมิของร่างกายให้เย็นลง เพื่อลดอาการอ่อนล้าและลดเวลาในการฟื้นตัว ส่งผลให้การฝึกซ้อมหรือการเล่นกีฬาเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วิธีการลดอุณหภูมิในร่างกายตามหลักการนั้น เราต้องลดอุณหภูมิบริเวณแกนกลางของลำตัว บริเวณตำแหน่งของหน้าอก ช่องท้อง คอและแกนของลำตัวทั้งหมด ซึ่งวิธีที่ได้รับการยอมรับและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับสากล คือ การแช่ลงไปในน้ำเย็น ความลึกระดับประมาณหน้าอก อุณหภูมิของน้ำอยู่ในช่วง 10 ถึง 15 องศาเซลเซียส เนื่องจาก มีงานวิจัยศึกษาพบว่า การแช่น้ำที่มีอุณหภูมิในช่วงดังกล่าว เป็นเวลา 10 – 15 นาทีต่อเนื่องนั้น สามารถทำให้อุณหภูมิแกนกลางลำตัวลดลงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่วยลดอาการอ่อนล้า ปวดเมื่อย ไม่สบายตัว ลดระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังการออกกำลังกาย ส่งผลให้นักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายมีแนวโน้มในการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันที่ดีมีมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การทำ Ice Bath ยังถูกนำมาใช้ในการรักษา โรคฮีทสโตรก (ภาวะลมแดด) ที่เกิดจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย เนื่องจากในขณะที่ออกกำลังกายหนัก ในร่างกายมีอุณหภูมิสูงหรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน วิธีการรักษาและป้องกันจะใช้หลักการเดียวกันคือ ต้องลดอุณหภูมิแกนกลางร่างกายให้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีที่เหมาะสมที่สุดคือ การทำ Ice Bath จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายและลดภาวะการเป็นลมแดดได้

การออกกำลังกายในปัจจุบันหลายคนมีเป้าหมายมุ่งมั่นเพื่อความเป็นเลิศ การจะก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นได้ก็ต้องทำให้ร่างกายมีความพร้อมต่อการฝึกฝนอย่างหนักได้ Ice Bath จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้ออกกำลังกายและนักกีฬาในระดับนานาชาติ ได้ฟื้นฟูร่างกายในระยะเวลาที่เร็วขึ้น ช่วยให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการฝึกซ้อมและแข่งขันมาก ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำ Ice bath ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ผลิตเพื่อออกมาใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ สำหรับประเทศไทยผมและทีมวิจัย วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงจุดที่จะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมชิ้นนี้ได้ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูง การบำรุงรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องสั่งอะไหล่จากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภายนอกภายนอก (บริษัท ไทยทาซากิ จำกัด) นำระบบทำความเย็นและเทคโนโลยีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในการทำ Ice bath ตัวต้นแบบ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิของน้ำและเวลาให้คงที่และแม่นยำได้ และถูกนำมาใช้ในคลินิกการกีฬา ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว รวมไปถึงมีการผลักดันให้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลาย ๆ ส่วนงาน เช่น สมาคมกีฬา คลินิกกีฬา คลินิกกายภาพบำบัด และสโมสรกีฬาต่าง ๆ โดยทีมจะได้มีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์และวิธีการใช้งาน เพื่อให้เกิดความสะดวกเข้าถึงง่ายทั้งการใช้งานและการบำรุงรักษา ให้มีความเสถียรและสามารถติดตามผลได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น


เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป