ผู้สูงวัยยุค Aging Society กับบทบาทสำคัญด้านการพัฒนาเด็กไทย
14/11/2022
การปลูกฝังการอ่านเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กไทย
15/11/2022

รู้เท่าทันอันตรายที่แฝงมากับเครื่องดื่ม

เผยแพร่: 

รองศาสตราจารย์ ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์
คณะเภสัขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในปัจจุบันมีการนำยาที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวชมาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนำมาใช้ทำให้เกิดอาการง่วง ซึม หรือทำให้หลับ ซึ่งทางการแพทย์นำมาใช้เพื่อการรักษาและบรรเทาอาการของโรควิตกกังวล ช่วยคลายเครียด ช่วยการนอนหลับ ช่วยคลายกล้ามเนื้อ รักษาอาการชัก รวมถึงนำมาใช้ร่วมกับยาสลบในการผ่าตัด โดยมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าหลอดเลือด หากมีการนำยากลุ่มดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดหรือนำไปใช้ในทางอาชญากรรมกับบุคคลอื่น จะก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายของผู้ได้รับยา ซึ่งอาจอันตรายทำให้เสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากได้รับยาเกินขนาด

สำหรับกรณีของการนำยาดังกล่าวนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องบ่อย เช่น อัลปราโซแลม (alprazolam) และฟลูไนตราซีแพม (flunitrazepam) หรือชื่อการค้า คือ โรฮิบนอล (Rohypnol®) ซึ่งยาทั้งสองชนิดนี้เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรควิตกกังวล และโรคนอนไม่หลับ ตามลำดับ โดยยามีคุณสมบัติทางเคมี คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เมื่อนำไปบดแล้วผสมในเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ จะทำให้ผู้ดื่มเข้าไปไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการง่วง ซึม ในกรณีของฟลูไนตราซีแพม (ยาลิ้นฟ้า) ที่มีการนำสีฟ้ามาเคลือบที่เม็ดยาไว้ จะช่วยป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ และสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติหากมีการนำไปบดผสมกับเครื่องดื่มได้

การออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ เมื่อได้รับยาโดยการรับประทาน (กินทั้งเม็ด หรือนำมาบดเป็นผงผสมในเครื่องดื่ม) ยาจะดูดซึมเข้ากระแสเลือด และออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้เห็นผลของยาภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง (ขึ้นกับชนิดของยา) และจะกระจายเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดอาการง่วงนอน กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง รวมถึงเกิดการสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ กล่าวคือ ระหว่างที่ยาออกฤทธิ์ จะทำให้หลงลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น จำไม่ได้ว่าคุยกับใคร เดินไปกับใคร ถูกพาไปที่ไหน หรือคล้อยตามสิ่งที่มิจฉาชีพบอกโดยไม่สามารถขัดขืนหรือป้องกันตนเองได้ เช่น ส่งกระเป๋าเงิน กุญแจรถให้กับคนอื่น จนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ (ประมาณ 8-24 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดของยาที่ได้รับ) อาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไป ความสามารถในการจดจำสิ่งต่าง ๆ จะกลับมาเป็นปกติได้ กรณีที่มีการนำยาดังกล่าวผสมลงในเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดอาการอันตรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้

วิธีการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากการได้รับยาดังกล่าวที่ดีที่สุด คือ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานบันเทิงคนเดียว หรือสถานที่ที่ไม่มีบุคคลที่ไว้ใจอยู่ด้วย เพื่อลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะได้รับยาโดยไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ต้องดูแลเครื่องดื่มของตัวเองดี ๆ ไม่รับเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า ถ้าเปิดเครื่องดื่มใหม่ได้จะเป็นทางที่ดีที่สุด ทั้งนี้ หากสังเกตว่าเริ่มมีอาการมึนงง ซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง สติไม่อยู่กับตัว ซึ่งเป็นอาการขั้นต้นการได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ให้รีบพยายามออกจากพื้นที่นั้น แจ้งเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้ และควรหลีกเลี่ยงการขับรถ เพราะอาจทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ เกิดการบกพร่อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางรถได้

สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะใช้ยาประเภทนี้หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ ควรปรึกษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาจำพวกนี้ทางการแพทย์ถูกควบคุมและจำกัดการสั่งใช้เฉพาะข้อบ่งใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ด้วยการจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2529 โดยยากลุ่มนี้มีหลายชนิด แพทย์จะซักประวัติเพื่อเลือกยาที่เหมาะสมกับคนไข้ แต่ละชนิดมีความไว มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน


เรียบเรียงบทความโดย สาธิดา ศรีชาติ

ให้คะแนน
PR
PR