มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
02/08/2024สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ส่งมอบกระดาษเพื่อสนับสนุนการศึกษา ให้แก่ โรงเรียนวัดนครชื่นชุ่ม (กศ.น.) และ โรงเรียนวัดบ้านหลวง (บัวราษฎร์บำรุง)
09/08/2024เผยแพร่: 2
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา ศิริมานะพงษ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เอเลียนสปีชีส์ที่พบมากในแหล่งน้ำและมีการขยายพันธุ์แพร่กระจายอยู่หลายพื้นที่ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และอาจมีแนวโน้มส่งผลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำในอนาคต ดังนั้น การทำความเข้าใจและรู้จักที่มาที่ไปของเอเลียนสปีชีส์จะทำให้เกิดความตระหนักรู้จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เอเลียนสปีชีส์ หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น หรือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎอยู่ในถิ่นหรือในพื้นที่แห่งนี้มาก่อน แต่สัตว์เหล่านี้ได้ถูกนำเข้ามาหรือเดินทางโดยวิธีใดวิธีหนึ่งจากถิ่นอื่นๆ ซึ่งจะดำรงชีวิตอยู่ได้หรือไม่ก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมและการปรับตัว ในประเทศไทยพบได้ทั้งสัตว์บก และสัตว์น้ำ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่รุกราน” (Non-invasive species) หมายถึง เอเลียนสปีชีส์ที่เมื่อนำเข้ามาแล้วไม่ก่อให้เกิดผลกระทบและทำลายสมดุลของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น ปลาไน ปลาจีน ที่ปล่อยลงแหล่งน้ำไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” (Invasive species) หมายถึง เอเลียนสปีชีส์ที่เมื่อนำเข้ามาแล้วสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ปรับตัวแข่งขันแทนที่สัตว์พื้นถิ่นได้ดี ส่งผลให้สัตว์พื้นถิ่นเดิมอาจเกิดการสูญพันธุ์ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทำให้สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นอาจสูญพันธุ์หรือมีจำนวนลดลง เกิดผลกระทบทางชีวภาพ ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น หอยเชอรี่ ปลาซักเกอร์ ปลาหมอสีคางดำ ฯลฯ และยังสามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ เพราะสิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรค หรือทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ
เอเลียนสปีชีส์ในแหล่งน้ำ มีอยู่หลายชนิดที่รู้จักกันดีจากในข่าวรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่น “ปลาซักเกอร์ หรือปลาเทศบาล หรือปลากดเกราะ” มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ กินอาหารไม่เลือกโดยการดูด กินสาหร่ายและตะไคร่ได้ดี เมื่ออาหารไม่เพียงพอก็จะดูดเมือกจากปลาอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในตู้ได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวปลาอื่น ๆ พบมีการระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากการปล่อยปลาชนิดนี้ลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยปลาชนิดนี้ทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี แพร่พันธุ์และเติบโตไว สามารถกินไข่ของปลาชนิดอื่น ๆ ได้ดี และเป็นผู้รุกรานปลาที่อยู่ในธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ “หอยเชอรี่ หรือหอยโข่งอเมริกาใต้“ มีถิ่นกำเนิดทวีปอเมริกาใต้และทวีปอเมริกาเหนือ ถูกนำเข้ามาในไทยเพื่อนำมาเพาะพันธุ์เป็นหอยเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากไม่มีตลาดรับซื้อ จึงมีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ พบมีการระบาดในนาข้าว และแหล่งน้ำต่าง ๆ ถือเป็นหอยน้ำจืดที่เป็นศัตรูของต้นข้าว การทำลายหอยเชอรี่ทำได้ยาก เนื่องจากมีการวางไข่และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จึงต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการกำจัด ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย และที่พบมากช่วงนี้คือ “ปลาหมอสีคางดำ” มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ถูกนำเข้ามาเพื่อการปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ปลาชนิดนี้มีความสามารถในการปรับตัวสูง สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย รวมถึงน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีการสืบพันธุ์ที่มาก ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ปลาหมอสีคางดำเป็นปลาที่กินอาหารหลากหลายชนิด ทำให้เกิดการแข่งขันกับปลาท้องถิ่นในการแย่งชิงอาหารและพื้นที่อาศัย การแพร่กระจายของปลาชนิดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชุมชนสัตว์น้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา ยังกล่าวถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังหรือการสังเกตแหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือพื้นที่ประมงเพื่อตรวจหาการระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจาย ผู้ประกอบอาชีพประมง เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ และประชาชน สามารถทำงานร่วมกับนักวิจัยและนักอนุรักษ์เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบของสัตว์น้ำต่างถิ่นต่อระบบนิเวศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการรักษาสมดุลของนิเวศและป้องกันการกระจายไปยังแหล่งน้ำอื่น ๆ โดยผู้เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาและรู้จักชนิดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังสนใจ เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าสัตว์น้ำต่างถิ่นที่พบมีลักษณะทางสีสัน รูปร่าง และพฤติกรรมอย่างไร การสังเกตสามารถใช้จากการมองด้วยตาเปล่าหรือการใช้เครื่องมือ เช่น การใช้กล้องจุลทรรศน์หรือกล้องถ่ายภาพใต้น้ำในการสังเกตสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีขนาดเล็กมาก เพื่อนำมาศึกษาและวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การเคลื่อนไหว การหาอาหาร และท่าทางต่าง ๆ ที่สามารถช่วยในการระบุชนิดของสัตว์น้ำได้ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจะใช้คู่มือหรือแอปพลิเคชันที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์น้ำต่างถิ่นที่พบ เพื่อช่วยในการระบุและบันทึกข้อมูล ก่อนที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะร่วมกันจัดทำรายงานการพบสัตว์น้ำต่างถิ่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมงหรือหน่วยงานนิเวศท้องถิ่น เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและจัดการได้อย่างเหมาะสม
การพบสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เนื่องจากสัตว์น้ำต่างถิ่นอาจก่อให้เกิดปัญหาทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติจึงควรปฏิบัติตามขั้นตอนและแนวทางเมื่อพบสัตว์น้ำต่างถิ่น มีการระบุและบันทึกข้อมูล เช่น สถานที่และเวลาที่พบ รวมถึงจำนวนและขนาดของสัตว์น้ำ เพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานเพื่อให้พวกเขาสามารถติดตามและจัดการได้ หากมีการจับสัตว์น้ำต่างถิ่นขึ้นมา ควรเก็บรักษาในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการหลุดรอดกลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีการกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ การปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องสามารถให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของสัตว์น้ำต่างถิ่นและการส่งเสริมให้ไม่ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักในสังคมเกี่ยวกับความสำคัญของการป้องกันการระบาดของสัตว์ต่างถิ่น เช่น หากพบสัตว์น้ำต่างถิ่นให้รีบแจ้งหน่วยงานราชการเพื่อนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่อไป ซึ่งหากพบไวและกำจัดได้ไวก็จะลดความสูญเสียในระบบนิเวศได้
เรียบเรียงบทความ โดย คุณวราภรณ์ น่วมอ่อน
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป