เสริมสุขภาพดีสำหรับคนวัยทอง “ลด หวาน มัน เค็ม เติมเต็ม ผัก ผลไม้”
19/07/2024
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
02/08/2024
เสริมสุขภาพดีสำหรับคนวัยทอง “ลด หวาน มัน เค็ม เติมเต็ม ผัก ผลไม้”
19/07/2024
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
02/08/2024

เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ …การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนเอวแบบใช้การเจาะรูส่องกล้องช่วย (UBE-TLIF)

เผยแพร่: 

นายแพทย์พัลลภ ถิระวานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

กระดูกสันหลังเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งกระดูกสันหลังของมนุษย์นั้น มีตั้งแต่ส่วนต้นคอ ทรวงอก ส่วนเอว ไปจนถึงอุ้งเชิงกราน มีหน้าที่หลักเป็นแกนกลางของโครงสร้างกระดูกของลำตัว และมีเส้นประสาทไขสันหลังวิ่งอยู่ทางด้านหลังของโพรงเส้นประสาท ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้นและ Lifestyle การใช้ชีวิตโดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มักนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือมีการออกกำลังกายที่มากขึ้น มีแนวโน้มอาจส่งผลไปให้มีปัญหาข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาอาการปวดเรื้อรัง ส่งผลเสียต่อชีวิตและการงาน อย่างไรก็ตาม หลังจากการรักษาด้วยการประคับประคองอาการ เช่น การกินยา แล้วยังไม่เห็นผล หรืออาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดด้วยกล้องเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบัน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่ใช้ในการช่วยการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนเอวแบบใช้กล้องเอนโดสโคปช่วย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่ใช้ในการช่วยผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมหรือกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยมักทำการผ่าตัดชนิดนี้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีการรักษาภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแบบประคับประคองอย่างเต็มความสามารถแล้วล้มเหลว หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงของขาร่วมด้วย โดย ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นายแพทย์พัลลภ ถิระวานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนเอวแบบใช้การเจาะรูส่องกล้องช่วย (Unilateral Biportal Endoscopic Transforaminal Lumbar Interbody Fusion (UBE-TLIF) จะมีแผลผ่าตัดที่มีขนาดท่ากับขนาดนอตที่ยึดกระดูก โดยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถขยับลุกเดินได้ โดยจะอาการปวดหลังการผ่าตัดก็น้อยลง เนื่องจากมีการตัดกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังที่ทำการผ่าตัดน้อยลง นอกจากนี้การใช้กล้องเอนโดสโคปช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอวสามารถทำให้ศัลยแพทย์เห็นอวัยวะและเส้นประสาทที่กำลังทำการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย มีข้อดีในการรักษาด้วยวิธีนี้โดยเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนเอว (Open Transforaminal Lumbar Interbody Fusion (TLIF) แบบดั้งเดิมนั้น พบว่าช่วยในเรื่องการลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล ลดอาการปวดแผลหลังผ่าตัดในช่วงแรกขณะนอนโรงพยาบาล และลดการเสียเลือดในระหว่างการผ่าตัด

นายแพทย์พัลลภ ถิระวานิช เพิ่มเติมว่า การเกิดภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเคลื่อนทับเส้นประสาทนั้น สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ไม่จำเป็นต้องเกิดในผู้สูงวัยเท่านั้น เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเกิดสาเหตุของโรคที่เกิดจาก พันธุกรรม การสร้างโครงสร้างกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ การบาดเจ็บอย่างรุนแรงต่อกระดูกสันหลัง หรือการใช้งานของกระดูกสันหลังที่มากเกินไปเกินความสามารถ เช่น การก้มยกของหนักมาก ๆ เป็นระยะเวลานาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำในการดูแลป้องกันรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนเอว ดังนี้
1. หลักเลี่ยงการยกของหนักที่มากเกินความสามารถ
2. ทำการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากจนส่งผลต่อสุขภาพ เพื่อลดการสร้างภาระต่อกระดูกสันหลัง
3. หลีกเลี่ยงกิจวัตรประจำวันในท่าที่ไม่เหมาะสม ที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังในระยะเวลานานๆ เช่น การนั่งก้มหลังที่มากเกินไป การขับรถทางไกลโดยไม่หยุดพักระหว่างทาง การก้มยกของที่ผิดท่า เป็นต้น
4. ออกกำลังกายโดยทำการเพิ่มความแข็งแรงและเสริมความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อแกนกลาง ได้แก่ กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อหลัง
5. ระมัดระวังไม่ให้หลังได้รับการกระทบกระเทือน หรืออุบัติเหตุอย่างรุนแรง

สามารถสอบถามเพิ่มเติมหน่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ โทร 02-8496600 ต่อ 2161 คลินิกพิเศษ 02- 8496600 ต่อ 2160,2164 หรือ https://www.gj.mahidol.ac.th/main/clinic/spine/ หน่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ ชั้น 2 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

อ้างอิง: Yu, Q., et al., Unilateral biportal endoscopic transforaminal lumbar interbody fusion versus conventional interbody fusion for the treatment of degenerative lumbar spine disease: a systematic review and meta-analysis. BMC Musculoskeletal Disorders, 2023. 24(1): p. 838.


เรียบเรียงบทความ โดย คุณสุทธิรัตน์ สวัสดิภาพ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป