เช็คอาการแบบไหน เข้าข่ายเป็นผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
14/06/2024
Corporate Identity: CI หรือ Brand Identity กับความสำคัญของการสื่อสารองค์กร
28/06/2024

“โรคเบาหวานขึ้นตา” (Diabetic Retinopathy) เสี่ยงตาบอด จริงหรือไม่ ?

เผยแพร่: 

แพทย์หญิงวริศร์ภรณ์ วรเกรียงไกร
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“เบาหวาน” เป็นโรคที่พบได้บ่อย จากสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ล่าสุด มีการสำรวจพบว่ามีประชากรไทย 5.2 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไปกำลังป่วย ในจำนวนนี้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับเนื้อเยื่อ และอวัยวะในร่างกาย รวมถึง ดวงตาซึ่งเรามักเรียกอาการนี้ว่า “โรคเบาหวานขึ้นตา” นั่นเอง “เบาหวานขึ้นตา” (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดที่จอประสาทตา (Retina) ได้รับความเสียหายจากน้ำตาลอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหวเวียนได้ตามปกติ ซึ่งในช่วงแรกอาจไม่พบอาการ หรือมีการมองเห็นผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาจนมีอาการรุนแรง อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

แพทย์หญิงวริศร์ภรณ์ วรเกรียงไกร ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า ระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่พอเป็นเยอะขึ้นจะมีอาการได้ เช่น มีอาการตามัวมากขึ้น มองเห็นภาพเบี้ยว ภาพซ้อนหรือว่าเป็นมาก ๆ จะทำให้สูญเสียตาได้ คนที่เป็นเบาหวานมีสิทธิ์เป็น“เบาหวานขึ้นตา” แต่ทั้งนี้จะเกิดกับคนที่สามาถควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี ดังนั้น น้ำตาลในเลือดของคนที่เป็นเบาหวานควรอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่า 110 มก./ดล. หรือระดับน้ำตาลสะสมต่ำกว่า 7%

“โรคเบาหวานขึ้นตา” เกิดจากที่เราควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลที่ค่อนข้างสูงทำให้เซลล์ของผนังหลอดเลือดมีปัญหาอาจจะทำให้ตัวพนังหลอดเลือดเปราะ เกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ ทำให้มีเลือด หรือของเหลวมาคั่งบริเวณจอประสาทตา ของเหลวที่รั่วมาในจอประสาทตาจะทำให้จอประสาทตาบวมได้ หากของเหลวที่คั่งอยู่บริเวณจุดสำคัญของการมองเห็นคือจุดภาพชัด จะทำให้จุดภาพชัดบวมน้ำ ทำให้เกิดภาพมัวได้ ในกรณีที่เป็นรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะเกิดการขาดเลือดของจอประสาทตาที่มากขึ้น กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดขึ้นมาใหม่ ซึ่งเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเส้นเลือดที่พัฒนาขึ้นมาไม่ดีทำให้เป็นเส้นเลือดที่เปราะ แตกง่าย อาจจะทำให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา เลือดออกในจอประสาทตาหรือกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่ลูกตา เกิดพังผืดที่จอประสาทตา จนเกิดการดึงรั้งจนประสาทตาลอกได้ และหากไม่ได้รับการรักษาโรคเบาหวานขึ้นตา หากเป็นในระยะรุนแรงจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ได้

โรคเบาหวานมี 2 ชนิด คือ เบาหวานประเภทที่ 1 (Diabetes Type1) เกิดจากสาเหตุพันธุกรรมและยังไม่ทราบปัจจัยแน่ชัด ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เบาหวานประเภทที่ 2 (Diabetes Type2) เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีผลให้การสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ทั้ง2แบบมีสิทธิ์ที่จะเป็นเบาหวานขึ้นตาได้ เนื่องจากว่าเบาหวาน เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด หากเราคุมระดับน้ำตาลไม่ดีก็จะมีผลกับหลอดเลือดเราได้ทันที การวินิจฉัย การตรวจตาคัดกรองเบาหวาน จักษุแพทย์จะตรวจตั้งแต่ลักษณะทั่วไปของลูกตา ระดับการมองเห็น การวัดความดันตา ตรวจดูตั้งแต่ด้านหน้าของลูกตา เช่น ดูว่ามีเส้นเลือดผิดปกติหรือไม่ หลังจากนั้นจะให้คนไข้ ขยายม่านตาเพื่อทำการตรวจจอประสาทตา การขยายม่านตาจะทำให้ตามั่วไป 4-6 ชั่วโมง จนหมดฤทธิ์ยา

สำหรับ “เบาหวานขึ้นตา” สามารถแบ่งระยะออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก คือระยะเบื้องต้น ยังไม่มีเส้นเลือดผิดปกติใหม่ขึ้นที่จอประสาทตา ในระยะนี้ยังไม่มีอาการมากนัก จึงไม่จำเป็นรักษาอาการทางตาอย่างทันท่วงที แต่ระยะนี้จะต้องคุมเบาหวานให้ดี ชะลอไม่ให้โรคเป็นมากกว่านี้ และคุมโรคประจำตัวอื่น ๆ ให้ดีร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง แต่ในกรณีที่โรคพัฒนามากขึ้น เข้าสู่ระยะที่มีเส้นเลือดผิดปกติที่บริเวณจอตา การรักษาจะเริ่มตั้งแต่ การทำเลเซอร์ ซึ่งจะทำบริเวณขอบนอกของตัวจอประสาทตา เพื่อให้เลือดที่เลี้ยงประสาทตามีความเพียงพอ ความสมดุลกับจอตาที่ต้องการเลือด ป้องกันไม่ให้เกิดการกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติขึ้นมา นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดจอประสาทบวมหรือมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือมีเส้นเลือดผิดปกติเกิดขึ้น จะต้องรักษาด้วยการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา เพื่อทำให้จอประสาทตายุบบวม หรือยับยั้งการเกิดเส้นเลือดผิดปกติ ทำให้การมองเห็นดีขึ้น แต่ในสำหรับรายที่เป็นระยะค่อนข้างมาก การรักษาที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาการมองเห็นต่อไป

ท้ายสุด แพทย์หญิงวริศร์ภรณ์ วรเกรียงไกร ได้เน้นย้ำถึงทุกท่านที่เป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงควบคุมโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วย และควรตรวจตาสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ยกเว้นในรายที่มีเบาหวานขึ้นตาแล้ว เราควรติดตามผลตามที่จักษุแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ และควรมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ


เรียบเรียงบทความ โดย คุณสุทธิรัตน์ สวัสดิภาพ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน