ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลต่อสัตว์น้ำอย่างไร
05/04/2024
สุขภาพดีด้วยอาหาร และสมุนไพรในหน้าร้อน
26/04/2024

โภชนาการกับโรคมะเร็ง

เผยแพร่: 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“อาหาร” เป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราจำเป็นต้องรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายมีพลังงานใช้ในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของคนส่วนใหญ่ มักเลือกรับประทานอาหารตามความชอบ และไม่ได้คำนึงผลเสียที่มากับการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยที่อาจจะตามมาได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าคนไทยมีการรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย และรับประทานอาหารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน เสี่ยงที่จะเป็นโรคต่าง ๆ อาทิ โรคในกลุ่ม NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เลือกนั้น ก็ยังเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่าง ๆ ข้อมูลโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน/ปี หรือประมาณ 400 คน/วัน และมีอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลสถิติของกรมการแพทย์ พบว่าโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศไทย 5 อันดับ มีสาเหตุจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องมากถึง ร้อยละ 50 ซึ่งมีอัตราการเกิดโรคมีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยข้อมูลด้านโภชนาการสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ จะต้องเลือกบริโภคอาหารอะไร และมีวิธีการดูแลด้านโภชนาการอย่างไร เนื่องจากการรับประทานบางอย่างอาจไปกระตุ้นให้อาการมะเร็งลุกลามกว่าเดิมได้ โดยอ้างอิงถึงการเกิดโรคมะเร็ง 5 อันดับในประเทศไทย (จากสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทยปี พ.ศ. 2565) ดังนี้

มะเร็งตับ (Liver Cancer) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ เพศชาย ร้อยละ 33.2 เพศหญิง ร้อยละ 12.2 ซึ่งเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย โดยมีอัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตที่สูงมาก หลายคนอาจจะคิดว่ามะเร็งตับนั้น เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเพียงอย่างเดียว ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณมาก จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไขมันพอกตับ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ไขมันจากอาหารทอด ของมัน สามารถนำไปสู่การสะสมของไขมันในตับ ส่งผลให้เกิดการอักเสบและความเสียหายต่อเซลล์ตับ การบริโภคสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) หรือสารพิษจากเชื้อราในอาหารที่เก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น ถั่ว ข้าวโพดแห้ง ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังเป็นสาเหตุของมะเร็งตับได้ โภชนาการเพื่อป้องกันมะเร็งตับ ได้แก่ ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปสามารถทำลายเซลล์ตับนำไปสู่ภาวะตับอักเสบและตับแข็ง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ ควบคุมพลังงานที่มาจากอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดการบริโภคอาหารไขมันสูง การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด และอาหารจำพวกนม เนยในปริมาณมาก เพิ่มอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ จะช่วยในการขับสารพิษ ลดการทำงานหนักให้กับตับ รับประทานโปรตีนจากแหล่งที่ดี โปรตีนจากแหล่งที่มีคุณภาพ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง พืชตระกูลถั่ว ช่วยให้ตับมีสุขภาพดีสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 พบในน้ำมันปลาและเมล็ดแฟลกซ์ ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ปกป้องตับจากความเสียหาย บริโภควิตามินB วิตามินC วิตามินE และซีลีเนียม ซึ่งจะการป้องกันความเสียหายของเซลล์ ส่งเสริมการทำงานที่ดีของตับ

มะเร็งปอด (Lung Cancer) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด เพศชาย ร้อยละ 22.8 เพศหญิง ร้อยละ 11.5 เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่มีอัตราการเกิดและการเสียชีวิตสูงทั่วโลก ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการเกิดโรค นอกจากนี้สารพิษในอากาศ และการรับประทานอาหารเสริมที่มีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) เกินความจำเป็นต่อร่างกาย ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด จากการวิจัยพบว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูยอ กุนเชียง จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เนื่องจากเหล่านี้มักจะมีสารเคมีและสารกันบูด การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น น้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำ สามารถมีสารที่เป็นอันตรายซึ่งเมื่อสะสมในร่างกายอาจทำให้เกิดการอักเสบซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด โภชนาการเพื่อป้องกันมะเร็งปอด ได้แก่ การบริโภคผัก ผลไม้ที่มีหลากสีสัน เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีสีส้ม แดง สีม่วงเข้ม จะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยต้านการอักเสบ และป้องกันความเสียหายของเซลล์ ลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด พืชผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ซึ่งมีสารไอโซไทโอไซยาเนท (Isothiocyanate) และซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง และช่วยขับสารพิษออกจากปอด เลือกใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันเมล็ดชาและน้ำมันรำข้าวในการปรุงอาหาร จะสามารถช่วยลดการอักเสบ ช่วยให้ปอดทำงานได้ดี จำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์และลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ แม้การบริโภคแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโภชนาการ แต่การเลิกหรือลดระดับการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มีผลอย่างมากต่อการลดความเสี่ยงของมะเร็งปอดได้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพศชาย ร้อยละ 18.7 เพศหญิง ร้อยละ 13.3 สาเหตุการเกิดมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยโภชนาการและพฤติกรรมการกินเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดโรค คือ การรับประทานอาหารที่มีไขมันจากสัตว์สูง รับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ไขมันและน้ำตาลสูงซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน พบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนปกติประมาณ 1.2 เท่า การรับประทานเนื้อแดง อาจเพิ่มการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม และกุนเชียง มักมีสารเคมีเพื่อการถนอมอาหารและสารกันบูด ซึ่งบางชนิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ โภชนาการเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ บริโภคอาหารที่มีเส้นใยสูง การบริโภคผักสด ผลไม้เป็นประจำสามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ เนื่องจากเส้นใยในผักและผลไม้ช่วยให้กระบวนการขับถ่ายเป็นปกติ และลดเวลาที่สารก่อมะเร็งต่าง ๆ อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป การบริโภคเนื้อสัตว์เช่น เนื้อวัว หมู และอาหารแปรรูปเช่น ไส้กรอก แฮม แหนม หมูยอ กุนเชียง ที่จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ รับประทายอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักใบเขียวเข้ม แครอท ฟักทองและผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์และลดความเสี่ยงของมะเร็ง การดื่มน้ำเพียงพอทุกวัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี และทำให้กระบวนการขับถ่ายสะดวกและสม่ำเสมอ จำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ การบริโภคแอลกอฮอล์สูงเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ควรจำกัดการบริโภคหรือหลีกเลี่ยง

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) พบว่า มีเพศหญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม ร้อยละ 34.2 เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคคือพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต และรูปแบบการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์มากเกินไป พบได้ในเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอด และอาหารแปรรูป ซึ่งจะเพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกายและกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม การบริโภคน้ำตาลและของหวานจำนวนมาก สามารถนำไปสู่น้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดมะเร็งเต้านม การบริโภคแอลกอฮอล์ มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม แม้การบริโภคเพียงเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงได้ โภชนาการเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ได้แก่ เลือกรับประทานผัก ผลไม้ การบริโภคผัก ผลไม้สดเป็นประจำช่วยให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถป้องกันความเสียหายของเซลล์และช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม เลือกไขมันที่ดีต่อสุขภาพ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว และไขมันจากพืช ช่วยให้ได้รับไขมันดีที่อาจลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม บริโภคแหล่งโปรตีนที่ดี เนื้อปลา ถั่ว ธัญพืชเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่มีไขมันต่ำและมีสารพิษน้อยกว่าเนื้อสัตว์แปรรูป บริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช และถั่ว สามารถช่วยลดระดับเอสโตรเจนในร่างกาย ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) พบว่า มีเพศหญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 11.1 เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพหลักที่พบในผู้หญิงทั่วโลก สาเหตุหลักของมะเร็งประเภทนี้ คือการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ แม้การบริโภคอาหารอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเกิดมะเร็งปากมดลูก แต่โภชนาการมีบทบาทในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและการลดความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ การบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปในปริมาณที่มากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ เนื่องจากเนื้อสัตว์ประเภทนี้มักมีสารกันบูดและสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ การรับประทานผักผลไม้น้อย จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากการบริโภคผักผลไม้ที่น้อยจะสามารถลดปริมาณใยอาหารและวิตามินต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการป้องกันมะเร็ง โภชนาการเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ เลือกรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในอาหารประจำวัน ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและเนื้อสัตว์แปรรูป เพิ่มการดื่มน้ำและเครื่องดื่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น น้ำชาเขียวไม่ใส่น้ำตาล เพราะน้ำชาเขียวมีสารคาเทชิน ช่วยต่อต้านมะเร็งและป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ควบคุมปริมาณอาหารและพลังงานจากอาหารเพื่อรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้ำหนักที่เกินมาตรฐานสามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกได้ เนื่องจากไขมันส่วนเกินสามารถสร้างสภาวะอักเสบและการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่เอื้อต่อการเกิดมะเร็ง

สุดท้ายนี้ อาหารเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดโรคมะเร็ง เราจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพ ควบคู่กับการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เข้าการตรวจคัดกรองประจำปีอย่างสม่ำเสมอ สังเกตความผิดปกติของร่างกายเพื่อลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่าง ๆ ให้มากขึ้น


เรียบเรียงบทความ โดย คุณพรทิพา วงษ์วรรณ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน