เลี้ยงลูกแบบไหน “ไม่ขาด-ไม่เกิน และครอบครับไม่บกพร่อง”
17/05/2024
ปรับตัวอย่างไร เมื่อยุค AI มาถึง
08/03/2024

“ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต”

เผยแพร่: 

ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ อุณหภูมิความร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งโลก และมีการคาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งอุณหภูมิความร้อนนี้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หนึ่งในโรคที่มาพร้อมกับอากาศร้อนและเป็นกันมากคือ “โรคฮีทสโตรก” หรือ “โรคลมแดด”

ปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งอุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทยเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากขึ้น โดยข้อมูลจากหน่วยเฝ้าระวังโรค การเสียชีวิตจากภาวะโลกร้อนจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลในปีพ.ศ. 2558-2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 234 คน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากโรคนี้

“โรคฮีทสโตรก” หรือ “โรคลมแดด” เกิดได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่ 1) Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยสูงมากเกินไป คือมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะส่งผลอย่างมากในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 2) Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังกาย หรือใช้แรงที่หักโหมเกินไปในที่กลางแจ้ง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง โดยสัญญาณเตือนที่ควรระวังของโรคนี้ คือ ไม่มีเหงื่อออก ผู้ป่วยจะกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หน้าแดง ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคฮีทสโตรกสามารถเกิดได้กับทุกวัย โดยกลุ่มวัยที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับโรคนี้ คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงวัย โดยกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก จะมีการปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากลุ่มวัยอื่น ๆ จึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ควรจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กและผู้สูงอายุอยู่ในรถที่จอดตากแดด หรือปิดสนิทตามลำพัง หรือปล่อยให้ทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ความสนุกสนานหรือการเล่นเพลินกับเพื่อน ๆ และกิจกรรมต่าง ๆ อาจนำมาซึ่งอาการป่วยของเด็กได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการเด็กเวลาทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ สิ่งแรกที่เราจะพบในเด็กที่เป็นฮีทสโตรก คือมีอาการตัวแดงเหมือนเป็นไข้ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อสัมผัสตัวเด็ก กลับพบว่าตัวเด็กเย็น หรือในบางคนจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย

ทั้งนี้ การป้องกันตนเองไม่ให้เกิด “โรคฮีทสโตรก” นั้น ควรต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ดื่มน้ำวันละ 8 -10 แก้ว/วัน สวมใส่เสื้อผ้าโปร่ง ระบายลมได้ง่าย พยายามหลีกเลี่ยงในที่ที่อากาศร้อนและไม่ถ่ายเท หากรู้ล่วงหน้าว่าต้องทำงานหรือไปในที่กลางแจ้ง ควรดื่มน้ำก่อนออกกลางแจ้ง 1-2 แก้ว สวมแว่นกันแดด หรือสวมหมวกที่มีปีก ทาโลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป

มีข้อแนะนำสำหรับวิธีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นหากพบเจอผู้ป่วย “โรคฮีทสโตรก”หรือ “โรคลมแดด” คือ ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวให้พาผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที จัดให้นอนราบ คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่น ปลดเข็มขัด ถอดถุงเท้า รองเท้า และยกเท้าสูงขึ้นทั้ง 2 ข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เปิดพัดลมหรือแอร์ เพื่อระบายความร้อนให้ผู้ป่วย หากผู้ป่วยยังมีสติ สามารถให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายได้ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาที่คลินิกเพื่อทำการปฐมพยาบาลต่อไป ในกรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้ประเมินการรู้สึกตัวของผู้ป่วยก่อน ประเมินสัญญาณชีพ พาผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที หากประเมินแล้วไม่พบสัญญาณชีพให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และส่งต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดต่อไป

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่มีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญประจำ สามารถประเมินและให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นต่ออวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ไตและกล้ามเนื้อ รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวด้วย คลินิกเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. ตั้งอยู่ที่หอพักคณะพยาบาลศาสตร์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สอบถามเพิ่มเติมโทร.02-434-1687


เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน