บาดเจ็บข้อเข่า : อาการที่พบได้บ่อยในนักกีฬาและคนทั่วไป
19/01/2024
แพทย์แนะ ภาวะความผิดปกติของทรวงอก หากได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตดี
22/03/2024

ยุติปัญหา “การฆ่าตัวตาย” ด้วยระบบการเฝ้าระวังและป้องกัน

เผยแพร่: 

รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

“การฆ่าตัวตายคือทางออกของปัญหา…เป็นมายาคติที่อันตรายมาก เพราะการฆ่าตัวตาย เป็น “การตายโดยไม่จำเป็น” ผลกระทบที่หลงเหลืออยู่นั้นสำคัญยิ่ง เพราะครอบครัว คนรอบตัว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง จะเฝ้าถามตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดว่า “ทำไม” รวมถึงความรู้สึกผิดและหวาดระแวงกับสายตาของคนรอบข้างที่ฝังใจไปอย่างยาวนาน”

รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล หัวหน้าโครงการวิเคราะห์ระบบเฝ้าระวังและป้องกันการฆ่าตัวตายที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อการขยายผลด้วยกรอบแนวคิด CFIR, RE-AIM และ NPT และรักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่ใครสักคนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายเกิดจาก “พหุปัจจัย” หมายความว่า อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่ส่งผลพร้อมกัน แต่โดยส่วนใหญ่มักมีภูมิหลังของชีวิตเป็นผู้ที่มีความเปราะบางทางอารมณ์และการดำรงชีวิต เป็นผู้ที่วัยเด็กมีความบอบช้ำทางจิตใจ จากการเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางกายและใจ เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดื่มสุราจนขาดสติ และเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นทำให้รู้สึกสิ้นหวังหรือไร้คุณค่าในตนเอง ก็เป็นสาเหตุให้เกิดการตัดสินใจจบชีวิตตนเอง

แม้เราอาจไม่สามารถเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของสาเหตุการฆ่าตัวตาย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย นั่นคือ ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายขึ้นจริงได้ เพราะฉะนั้น วิธีลดความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดความคิดฆ่าตัวตาย (Suicidal Ideation) ซึ่งถือเป็นการป้องกันระดับปฐมภูมิ โดยเริ่มจากการปลูกฝังทักษะในการเผชิญหน้ากับปัญหาร่วมกับการแก้ไขปัญหา เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาพบเจอกับปัญหา แต่ในขณะเดียวกันเมื่อพบว่ายังพอมีความหวัง ก็จะสามารถค้นหากระบวนการในการแก้ไขปัญหา (Problem Solutions) ได้ในทุก ๆ จุดที่เกิดปัญหากับชีวิตได้

รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล กล่าวต่อว่า การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะผลกระทบที่ตามมาก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อร่างกายของผู้ที่ทำร้ายตัวเอง อาทิ การเสียชีวิต และในกรณีผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ยังส่งผลกระทบได้หลากหลายด้าน เช่น เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย ทำให้พิการ เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกหรือสภาพจิตใจไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผิด ความรู้สึกกล่าวโทษตนเอง ความรู้สึกไร้คุณค่าและทำให้ผู้อื่นลำบาก นอกจากนี้ การฆ่าตัวตายสำเร็จ ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนในครอบครัว เกิดความรู้สึกสูญเสีย ความรู้สึกผิด และกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น การฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมประเทศชาติในวงกว้าง อาทิ การเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ การก่อเหตุอาชญากรรมกรณีฆ่าผู้อื่นพร้อมกับฆ่าตนเอง ตลอดจนการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ

จากการศึกษาวิจัยในโครงการวิเคราะห์ระบบเฝ้าระวังและป้องกันการฆ่าตัวตายที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อการขยายผลด้วยกรอบแนวคิด CFIR, RE-AIM และ NPT พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชากรไทย มีจำนวน 5,172 คน หรือเท่ากับ 7.94 ต่อ 100,000 ประชากร เฉลี่ยวันละ 14 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง และจำนวนคนไทยที่พยายามฆ่าตัวตาย มีจำนวน 31,110 คน หรือเท่ากับ 47.74 ต่อ 100,000 ประชากร เฉลี่ยวันละ 85 คน หรือมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 7 คน ในทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งเพศชายจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิง แต่การพยายามทำร้ายตัวเองของเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย ส่วนช่วงวัยและอาชีพจะมีความแตกต่างกันไปแต่ละภูมิภาคและไม่พบรูปแบบที่ตายตัว แต่อย่างไรก็ดี เราสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้ เพราะปัจจุบันนี้เรามีเครื่องมือที่สามารถขับเคลื่อนและป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ 4 เสา” หรือ “โฟร์พิลล่าร์” (4 Pillars) เป็นหนึ่งในชุดเครื่องมือป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีการนำมาปรับใช้กับระบบเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้เขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าค่าที่ประเทศไทยกำหนดไว้ 2-3 เท่า

โฟร์พิลล่าร์ (4 Pillars) เป็นการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยใช้ยุทธศาสตร์ 4 ประการ ได้แก่ เสาที่ 1 ระบบข้อมูล (Data) เป็นการค้นหากลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง โดยการทำความเข้าใจคุณลักษณะ ปัจจัยเสี่ยง หรือผลกระทบที่ส่งผลให้เกิดความคิดฆ่าตัวตาย อาทิ ปัจจัยด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ เสาที่ 2 ชี้เป้า ดักจับ (Radar) เป็นเสาสัญญาณที่ทำหน้าที่ในการดักจับสัญญาณเสี่ยงโดยบุคคลรอบข้าง รวมถึงการนำส่งข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเพื่อส่งต่อเข้าสู่ระบบให้ความช่วยเหลือ เสาที่ 3 ป้องกัน บำบัด (Prevention and Treatment) จำเป็นต้องใช้การช่วยเหลือในรูปแบบที่เป็นเครือข่ายและการบูรณาการร่วมกัน หรือที่เรียกว่า “การทำงานแบบหลายภาคส่วน” (Multisectoral Collaboration) เพื่อร่วมดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายตามขั้นตอนและกระบวนการบำบัดต่อไป และเสาที่ 4 การบริหารอย่างมีส่วนร่วม (Administration) เป็นการให้การช่วยเหลือด้วยการบูรณาการหลายภาคส่วน ตามลักษณะของปัญหาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีการนำเครื่องมือป้องกันการฆ่าตัวตาย โฟร์พิลล่าร์ (4 Pillars) ไปใช้งาน เช่น เหตุการณ์ที่ 1 ช่วงระยะเริ่มต้นของ โฟร์พิลล่าร์ (4 Pillars) ในปี 2564 มีคุณแม่ท่านหนึ่งส่งสัญญาณการฆ่าตัวตาย ผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) เพจหนึ่ง โดยผู้ดูแลเพจ (Admin) ซึ่งเป็นเสาที่ 2 ได้รับทราบสัญญาณดังกล่าว จึงนำเรื่องแจ้งต่อยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือ จนสามารถยุติความคิดฆ่าตัวตาย สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพต่อไปได้ เหตุการณ์ที่ 2 คุณยายท่านหนึ่ง นำเงินที่มีออกมาทำบุญจำนวนมา(ทราบภายหลังว่าเพื่อต้องการให้เป็นกุศลเมื่อตนเองตายไปแล้ว) พระภิกษุท่านพิจารณาว่ามีพฤติกรรมต่างจากปกติ (พระเป็นเสาที่ 2) จึงแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยง จึงได้รู้ว่าคุณยายมีความคิดฆ่าตัวตายเพราะเกิดปัญหาในครอบครัวและหลานมีความจำเป็นต้องใช้เงิน คุณยายจึงอยากตายเพื่อให้เงินทีเหลืออยู่ตกทอดไปยังหลาน เป็นต้น เมื่อทั้งสองครอบครัวได้รับความช่วยเหลือก็สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข สอดคล้องกับคำขวัญวันฆ่าตัวตายโลกที่ว่า “สร้างความหวังผ่านการกระทำเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

​รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า ชีวิตของคนทุกคนมีคุณค่า ไม่ว่าจะคุณค่ากับตัวเอง คุณค่ากับคนรอบข้าง หรือคุณค่ากับใครก็ตาม สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่าทุกคนต้องเห็นคุณค่าของตนเองก่อน คนที่คิดทำร้ายตัวเองส่วนมากมักจะมองไม่เห็นทางออกของปัญหาหรือของชีวิต ด้วยบรรทัดฐานทางสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรม ฯลฯ ในขณะที่หลายคนพยายามส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ บางคนตัดพ้อ ต่อว่า และคนรอบข้างก็มักจะมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไปเพราะกรอบความคิดหรือความเชื่อที่มีอยู่ เช่น คิดว่าเรียกร้องความสนใจหรือไม่ทำจริงเพราะพูดบ่อยครั้ง ซึ่งในความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สามารถช่วยกันปรับ ช่วยกันสร้างได้ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าโลกนี้ช่างเลวร้าย ปัญหาที่เผชิญอยู่ดูไม่มีทางออกและจมอยู่ในโคลนปัญหา ขอให้ส่งเสียงออกมา ส่งไปยังหน่วยงานหรือคนรอบข้างให้ได้รับรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ และคนรอบข้างหากเพียงรับฟังอย่างตั้งใจ ก็เป็นการยื่นมือดึงเขาออกจากโคลนปัญหาแล้ว


เรียบเรียงบทความ โดย คุณจรินทร์ภรณ์ ตะพัง
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน