การส่งเสริมและกระตุ้นให้เลิกสูบบุหรี่ด้วยการพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษา เพื่อเลิกบุหรี่ในรูปแบบวิดีโอ
09/02/2024
อันตรายจากการบาดเจ็บและการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ ภัยใกล้ตัวที่เป็นภาวะคุกคามของชีวิต
23/02/2024

“ลูก” แค่ซุกซนตามวัย…หรือเป็น “โรคสมาธิสั้น”

เผยแพร่: 

กบ.ศศิชา จันทร์วรวิทย์ นักกิจกรรมบำบัด
คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ปกครองที่มีลูกน้อยวัย 1-5 ขวบ อาจจะเคยพบเจออุปนิสัยที่ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่ชอบการรอคอย ซึ่งพ่อแม่อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ที่เป็นไปตามพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย แต่ในบางครั้งความซุกซนที่มากเกินไป อาจจะเป็นสัญญานของ “โรคสมาธิสั้นในเด็ก” ได้

กบ.ศศิชา จันทร์วรวิทย์ นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปกติเด็กในแต่ละวัย จะสมาธิไม่เท่ากัน เช่น 1-2 ขวบ จะมีสมาธิประมาณ 3-5 นาที 3-6 ขวบ จะมีสมาธิประมาณ 5-15 นาที 7 ขวบขึ้นไปจะมีสมาธินานถึง 15-30 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ โดยจะเห็นได้ว่าเด็กเล็ก จะมีสมาธิสั้นกว่าเด็กโต สถิติจากกรมสุขภาพจิต พบว่า ในประเทศไทยความชุกของโรคสมาธิสั้นอยู่ที่ร้อยละ 8.1 หรือยกตัวอย่างในห้องเรียนเด็ก 50 คน จะพบว่ามีเด็กสมาธิสั้นจำนวน 4 – 5 คน โดย “โรคสมาธิสั้นในเด็ก” หรือ Attention Deficit Hyperactive Disorder (ADHD) สาเหตุเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่า เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเด็กคนอื่น ๆ 4 -5 เท่า ปัจจัยทางระบบประสาท การทำงานของสมองส่วนหน้ามีความผิดปกติ โดยสมองส่วนหน้าทำหน้าที่ควบคุมความคิด การยับยั้งชั่งใจ การวางแผน แก้ไขปัญหา การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม จึงส่งผลทำให้เด็กขาดทักษะดังกล่าว นอกจากนี้แม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือมีความเครียดมาก ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือเด็กที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นได้ ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นเวลานาน โดยขาดการควบคุมจากผู้ปกครอง เด็กที่มีการใช้สื่อเหล่านี้มาก ๆ อาจกลายเป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งการใช้หน้าจอไม่ได้ส่งผลโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น แต่เด็กที่ใช้หน้าจอมากเกินไป เด็กจะมีสมาธิจดจ่อน้อยลง ทำให้การใช้สมองส่วนความจำของเด็กลดลง ซึ่งสะสมทำให้เกิดอาการสมาธิสั้นได้ อาการของเด็กที่เป็นโรคนี้ มักจะควบคุมพฤติกรรมตนเองไม่ค่อยได้ อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ ซุกซน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มพฤติกรรมหลัก 3 ด้าน โดยเด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีทั้ง 3 กลุ่มร่วมกันได้

กลุ่มที่ 1 พฤติกรรมซน ยุกยิก อยู่ไม่นิ่ง หรือ Hyperactivity เด็กจะมีอาการซนมาก ผิดปกติกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ยุกยิก ขยับตัวไปมา ตื่นตัว กระสับกระส่าย นั่งไม่ติดที่ ต้องลุกเดินไปมา ปีนป่ายในที่ไม่สมควรกระทำ พูดมาก พูดไม่หยุด ไม่สามารถเล่นเงียบ ๆ คนเดียวได้ ขัดจังหวะบทสนทนา ชอบพูดแทรกคนอื่น ชอบเล่นหรือทำเสียงดัง ๆ เป็นต้น อันเนื่องมาจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและร่างกาย

กลุ่มที่ 2 พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ขาดความยั้งคิด หรือ Impulsive เด็กมักจะมีอาการเอาแต่ใจ อารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว รุนแรง หุนหันพลันแล่น ไม่ชอบการรอคอย ไม่ชอบการเข้าคิว ขาดความสามารถในการควบคุมตนเองในการแสดงอารมณ์ และพฤติกรรม ขาดการยั้งคิด ในบางรายอาจมีการจงใจทำพฤติกรรมที่รบกวนผู้อื่น โดยเด็กในกลุ่มซนยุกยิกมักมีจะมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นร่วมด้วย

กลุ่มที่ 3 พฤติกรรมขาดสมาธิ เหม่อลอย หรือ Inattention เด็กจะมีพฤติกรรมในกลุ่มนี้เพียงอย่างเดียว คือ มีอาการนิ่ง ๆ เหม่อลอย จดจ่ออะไรนาน ๆ ไม่ได้ บางครั้งเหมือนไม่ได้ฟังในสิ่งที่คนอื่นพูด หรือไม่ได้ฟังในสิ่งที่ครูสอน วอกแวกไปสนใจสิ่งเร้าภายนอก เบื่อง่าย หลงลืม ไม่รอบคอบ ไม่สามารถทำงานที่ใช้สมาธิได้

วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก จะต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู โดยจะต้องทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคที่เกิดขึ้นว่า “เกิดจากความผิดปกติของสมองและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเป็นความบกพร่องที่ต้องช่วยกันแก้ไข และรักษา” ด้วยการปรับพฤติกรรมทั้งเด็กและครอบครัว กระตุ้นพัฒนาการของเด็ก หากเด็กมีอาการไม่ชอบอยู่นิ่ง สามารถหากิจกรรมสลายพลังงานที่เป็นประโยชน์ หรือการเล่นกีฬา การสร้างกิจวัตรประจำวัน กำหนดตารางชัดเจนและเป็นขั้นตอน ให้เด็กรู้ว่าอะไรทำตอนไหน เพื่อให้เด็กได้รู้จักควบคุมตนเอง พ่อและแม่ควรให้เวลากับลูกอย่างสม่ำเสมอ หรือการหากิจกรรมทำร่วมกันระหว่างครอบครัว เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีให้เด็กเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ การสร้างสิ่งแวดล้อมหรือจัดสถานที่ให้เหมาะสม เช่น เมื่อเด็กทำการบ้านควรปิดโทรทัศน์ หรือในห้องเรียนไม่ควรนั่งเรียนใกล้หน้าต่าง ประตู เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กวอกแวกไปสนใจสิ่งอื่น อีกหนึ่งวิธีการรักษา คือ แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาร่วมกับวิธีการอื่นด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ส่วนใหญ่จะให้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทเพื่อกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทที่จำเป็น ช่วยลดการยุกยิกหรือลดความซน ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น พร้อมจดจ่อเรียนรู้มากขึ้น

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งสำคัญนั้น ผู้ปกครองต้องเปิดใจ เรียนรู้ ยอมรับ พร้อมร่วมมือช่วยกันปรับพฤติกรรมทั้งตัวเด็กและครอบครัว แก้ไขปัญหาและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก เพื่อให้เขาได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


เรียบเรียงบทความ โดย คุณพรทิพา วงษ์วรรณ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน