เผยแพร่:
เผยแพร่:
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินธร กลัมพากร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , รองศาสตราจารย์ ดร.อรสา พันธ์ภักดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การให้คำปรึกษาและข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรงจึงมีบทบาทในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพ และให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้
จากปัญหาที่พบในการให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ คือ พยาบาลยังมีทักษะไม่เพียงพอ เนื่องจากการเรียนหลักสูตรพื้นฐานอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสมรรถนะของพยาบาล จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสื่อเพื่อให้คำปรึกษาการเลิกสูบบุหรี่ โดยนำสื่อรูปแบบวิดีโอเป็นตัวช่วยในการพัฒนาพยาบาลให้มีสมรรถนะ สามารถให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้สูบเลิกบุหรี่ได้ จากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ได้ทำการสำรวจพยาบาลทั่วประเทศกว่า 1000 คน พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ไม่ได้รับคำแนะนำหรือชักชวนให้เลิกสูบบุหรี่อย่างเหมาะสม เป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้ผู้สูบบุหรี่ยังสูบบุหรี่ต่อไป หากพยาบาลมีทักษะในการสื่อสาร อธิบาย ให้แนะนำคนไข้ให้เลิกบุหรี่ และให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง ก็จะส่งเสริมให้ผู้สูบบุหรี่ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเลิกบุหรี่ รู้วิธีในการปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อที่จะเลิกบุหรี่ได้ และทำการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ทำให้ปัจจัยเสี่ยงเรื่องบุหรี่ลดลง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน รวมถึงโรคอื่นๆในกลุ่ม NCDs อีกด้วย
การพัฒนาสื่อวิดีโอในการพัฒนาทักษะครั้งนี้มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งโดยปกติแล้วการพัฒนาศักยภาพทางการพยาบาลในด้านต่าง ๆ จะทำด้วยวิธีการอบรมและฝึกปฏิบัติ แต่วิธีดังกล่าวยังทำให้เข้าถึงกลุ่มพยาบาลไม่ได้มาก ขณะที่สื่อในรูปแบบวิดีโอสามารถดูเวลาใดก็ได้ นำกลับมาดูซ้ำเพื่อทบทวนใหม่ได้ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของการยืดหยุ่นของเวลาและการเรียนรู้ โดยสื่อวิดีโอที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การให้คำปรึกษาผู้สูบ ระยะไม่มั่นใจลังเล ไม่อยากเลิก และ 2. การให้คำปรึกษาผู้สูบ ระยะเตรียมตัว ตัดสินใจเลิก โดยสื่อทั้ง 2 เรื่อง มีวิธีการถ่ายทอดทักษะการสื่อสารที่แตกต่างกัน กับผู้สูบทั้งที่ไม่พร้อมจะเลิก และที่พร้อมจะเลิกสูบ นอกจากนั้นในตอนท้ายของวิดีโอยังมีการสรุปขั้นตอนต่าง ๆของการให้คำปรึกษาที่ใช้ในสื่อด้วย จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพยาบาล และนักศึกษาพยาบาล ชั้นปี 2- 4 กลุ่มละ 126 คน พบว่า หลังจากการดูวิดีโอ พยาบาลและนักศึกษาพยาบาลมีความรู้และมั่นใจมากขึ้นที่จะช่วยผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้สูบบุหรี่มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบข้อมูลจากในอดีต จากเดิมมีจำนวนเกือบ 13 ล้านคน ปัจจุบันเหลือเพียง 9.9 ล้านคน แต่ที่ยังน่ากังวล คือ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาวะกับวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน แม้ว่าบุหรี่มวนจะมีจำนวนผู้สูบที่ลดลง โดยมีเป้าหมายในปี 2568 ให้ผู้สูบบุหรี่มวนลดลงเหลือ 9 ล้านคน แต่เป้าหมายที่แท้จริง คือ ไม่ควรให้มีผู้สูบบุหรี่เลย เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายิ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่ลดลง
นอกจากนี้ พิษภัยที่มากับบุหรี่มวน ยังทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด มะเร็งปอด เป็นต้น ส่วนพิษที่มากับบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ ปอดอักเสบเฉียบพลัน หากสะสมไปเรื่อย ๆ จะทำให้การทำงานของปอดบกพร่อง และที่สำคัญสารนิโคติน (Nicotine) ที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า จะมีความเข้มเข้นมากกว่าบุหรี่มวน นั่นคือ เหตุผลที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้า “ติดง่ายและเลิกยาก”
องค์การอนามัยโลก WHO ได้กำหนดหลักการที่ช่วยคนไข้เลิกบุหรี่ โดยใช้หลักแนวคิด 5 A ได้แก่ Ask การสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ Advise การให้คำแนะนำถึงอันตราย ความเสี่ยงวิธีลด เลิกบุหรี่ Assess การประเมินว่าอาการ ความพร้อมและวิธีการบำบัดรักษาเฉพาะราย Assist การช่วยเหลือ สร้างแรงจูงใจในการบำบัดรักษา และ Arrange follow up การติดตามผล ทั้งระหว่างการรักษาและหลังการรักษา จะเห็นได้ว่าการคัดกรองเบื้องต้น การถาม การให้คำแนะนำ และติดตามผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มีความสำคัญอย่างมาก ในสื่อวิดีโอมีการพัฒนาทักษะทั้ง 2 ชุดนี้ ส่งผลให้พยาบาลมีทักษะในการพูดกับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ เพื่อให้มีแรงจูงใจที่จะเลิกสูบมากขึ้น สามารถต่อสู้กับอาการที่ขาดนิโคติน และทำได้อย่างต่อเนื่อง จนเลิกบุหรี่ได้ ในอนาคตผู้วิจัยมีแผนจะพัฒนาต่อยอดเพื่อที่จะให้เป็นการศึกษาต่อเนื่อง สำหรับพยาบาล และนักศึกษาพยาบาล และอาจจะมีการเพิ่มสื่อวิดีโอ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มทักษะในการสื่อสารให้กับพยาบาลสามารถสื่อสารกับผู้รับบริการที่ต้องการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป
งานวิจัยนี้ นอกจากเป็นเรื่องของการฝึกทักษะ ทางวิชาชีพของนักศึกษาพยาบาลและพยาบาลแล้ว หากมองในฐานะของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือได้ว่าเป็น “สถาบันการศึกษาชี้นำสังคมไทยปลอดบุหรี่” นั้นถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ทั้งในเรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ปลอดบุหรี่ และการจัดบริการวิชาการสู่ชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการการจัดการศึกษาและในด้านการบริการสู่ชุมชนที่จะให้ความรู้หรือการพัฒนาทักษะในชุมชนวิชาชีพสุขภาพ ให้สามารถมาพัฒนาตัวเอง และให้บริการวิชาการคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของคนไทย
เรียบเรียงบทความ โดย คุณสาธิดา ศรีชาติ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |