วางแผนเตรียมเกษียณ เริ่มได้เลย ไม่ต้องรอ
12/01/2024
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ม.มหิดล ไขข้อสงสัย “ทำไมการตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักช่วงปีใหม่จึงมักไม่ค่อยได้ผล”
02/02/2024

5 โรคยอดฮิตใน “มือ”

เผยแพร่: 

กภ.จุติพร ธรรมจารี นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

“มือ” ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญในลำดับต้น ๆ ของร่างกาย หน้าที่ของมือคือ ใช้หยิบจับสิ่งของ ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ อีกทั้งยังมือยังสามารถใช้ในการสื่อสาร การแสดงอารมณ์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น โดยส่วนประกอบของมือประกอบไปด้วย กระดูกชิ้นเล็ก ๆ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท และเส้นเลือด ซึ่งมือเป็นอวัยวะที่มีขนาดเล็ก และมีความซับซ้อน หากมือประสบปัญหา อุบัติเหตุ หรือเกิดความผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันได้

กภ.จุติพร ธรรมจารี นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มือ” จัดเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานมากในร่างกาย เนื่องจากเราใช้ “มือ” ในทุก ๆ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้ “มือ” ของเราอาจถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแล และหากเราใช้งาน “มือ” หนักมากเกินไป หรือการใช้งานซ้ำ ๆ จะส่งผลให้ “มือ” เกิดปัญหา หรือเกิดอาการบาดเจ็บ โดย 5 โรค มือที่พบบ่อย มีดังนี้

1. โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s disease) เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น บริเวณโคน พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ใช้งานข้อมือในท่าเดิม ซ้ำ ๆ นาน ๆ พนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งพิมพ์งานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแปลบข้อมือเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อมือ หรือโดยเฉพาะเมื่อขยับนิ้วหัวแม่มือ หากมีการอักเสบมากจะมีอาการบวม แดง ปวดร้าวจากข้อมือมาถึงข้อศอก หากเริ่มมีอาการปวดข้อมือสามารถลองเช็กเบื้องต้นด้วยการกำนิ้วหัวแม่มือตัวเอง แล้วหักมือลงทางนิ้วก้อย ก็จะรู้สึกปวดบริเวณข้อมือ วิธีปฏิบัติตัวเบื้องตน คือควรพักการใช้งานมือและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือท่าทางที่ทำแล้วมีอาการปวด โดยการใช้อุปกรณ์พยุงข้อมือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพักการใช้งานข้อมือ หากอยู่ในช่วงระยะอักเสบ ผู้ป่วยสามารถประคบเย็นเพื่อลดการบวมและการอักเสบ หากอาการยังไม่ทุเลาผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษา โดยการรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ อัตราซาวน์ หรือการออกกำลังกายนั้นจะช่วยให้อาการดังกล่าวทุเลา หรือหายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตามหากรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดยังไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ และถ้าหากอาการดังกล่างยังไม่ทุเลา แพทย์อาจจะพิจารณาผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นต่อไป

2. นิ้วล็อค (Trigger finger) คือ การอักเสบของเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็น ส่งผลให้เส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็นมีการหนาตัวขึ้นจนกลายเป็นพังผืด ความยืดหยุ่นลดลง และเส้นเอ็นเคลื่อนผ่านไม่สะดวก จึงส่งผลให้นิ้วขยับได้ไม่ดี เมื่องอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อกไว้ อาจจะต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยแกะออก หากมีอาการมากขึ้นจะไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง บางรายมีอาการอักเสบและบวม ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ สาเหตุของนิ้วล็อคอาจเกิดจากการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงงอนิ้วมือมาก ๆ กำมือแน่นมาก ๆ หรือเกร็งนิ้วบ่อย ๆ เช่น ทำงานบ้าน บิดผ้า ใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า การหิ้วของหนัก โรคนิ้วล็อคพบได้บ่อยในช่วงอายุ 40-50 และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การรักษาโรคนิ้วล็อคนั้น หากเป็นระยะแรก แพทย์จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อบรรเทาปวดและลดการอักเสบ โดยอาจพิจารณาทำการรักษาทางกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง อัลตราซาวน์ หรือการกดคลายบริเวณที่เกิดพังผืดเบา ๆ รวมไปถึงการออกกำลังกายกล้ามเนื้อภายในฝ่ามือ หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ โดยโรคนิ้วล็อคนั้นอาการสามารถดีขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตามสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากผู้ป่วยยังมีการใช้งานนิ้วมือมาก และหากสุดท้ายอาการไม่หายขาด แพทย์อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ ผ่าตัดแบบเปิดผิวหนัง โดยการกรีดผ่าปลอกหุ้มเอ็น ให้ขาดออกจากกัน และการผ่าตัดแบบปิด โดยใช้เข็มสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออกผ่านผิวหนัง จะไม่มีแผล ซึ่งอาจมีอันตรายต่อเส้นประสาทและเอ็นที่อยู่บริเวณข้างเคียง อาจทำให้มีอาการปวดขณะขยับนิ้วมือ

3. ข้อนิ้วเสื่อม (Osteoarthritis of Hand) เป็นโรคที่เกิดกับกระดูกอ่อน (Cartilage) และเนื้อเยื่อรอบข้อสึกกร่อนและมีกระดูกงอก (หินปูนเกาะ) ขรุขระ ทำให้เวลาเคลื่อนไหวข้อกระดูกจะเกิดการเสียดสีกันเกิดอาการปวด เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดอาการปวดข้อมากขึ้นและเคลื่อนไหวลำบาก พบมากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ข้อมือและนิ้วมือมากเกินไป หรือเคยเกิดอุบัติเหตุบริเวณมือ เช่น กระดูกหัก การหกล้ม การเล่นกีฬา การทำงานที่กระแทกบริเวณมือซ้ำ ๆ อาการของโรคนี้พบว่า ผู้ป่วยมักปวดขัดข้อนิ้วมือเรื้อรังเป็นเวลานาน มีอาการตึงนิ้วมือในตอนเช้าหลังจากตื่นนอนน้อยกว่า 15 นาที ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน หลีกเลี่ยงการยกหรือหิ้วของหนักหรือการเกร็งนิ้วมือเป็นเวลานาน และบริหารมือเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อมือ การประคบอุ่น หรือแช่น้ำอุ่น 15-20 นาที จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด การรักษาทางกายภาพบำบัดนั้น สามารถทำได้โดยการแช่น้ำอุ่น หรือพาราฟิน การยืดดัดข้อต่อบริเวณข้อมือกรณีที่มีข้อต่อติดเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของมือ และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

4. หมอนรองกระดูกข้อมือฉีกขาด (The triangular fibrocartilage complex: TFCC) เกิดจากการบาดเจ็บและอักเสบของโครงสร้างเนื้อเยื่อ เส้นเอ็น และกระดูกบริเวณข้อมือที่เรียกว่า The triangular fibrocartilage complex โดยข้อมือได้รับแรงกระแทก เช่น หกล้มมือยันพื้น การตีกอล์ฟ เล่นบาสเกตบอล ทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อหรือจากการใช้งานข้อมือในท่าบิดหมุนซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น การทำงานบ้าน การใช้คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ จนทำให้เกิดการอักเสบ อาการของโรคนี้ผู้ป่วยมักจะปวดบริเวณข้อมือทางด้านนิ้วก้อย โดยจะปวดขณะบิดหมุนมือหรือปวดขณะอยู่นิ่ง ๆ ก็ได้ ความแข็งแรงของแรงของการบีบมือลดลง รู้สึกข้อมือไม่มั่นคง ข้อมือมีการจำกัดการเคลื่อนไหว หรือมีอาการบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วก้อย การรักษาโดยวิธีการทางกายภาพบำบัดได้ ได้แก่ ประคบอุ่น/เย็น การคลายบริเวณจุดกดเจ็บ การใช้เครื่องอัลตราซาวน์/เลเซอร์ เพื่อลดการอักเสบและอาการปวด การยืดดัดข้อต่อบริเวณข้อมือในกรณีที่มีข้อต่อยึดติด เพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของมือ และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ รวมไปถึงการใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือ เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อรอบข้อมือ

5. พังพืดกดรัดเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) เกิดจากการเสียดสีของเอ็นของข้อมือ (Transverse carpal ligament) กับเอ็นกล้ามเนื้อภายในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) จากการงอ-เหยียดหรือกำมือติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบ และหนาตัวขึ้นของเส้นเอ็นและกดทับเส้นประสาทของมือ (Median nerve) ที่ลอดผ่านโพรงนี้เพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมือ ส่งผลให้เกิดอาการปวด ชา รวมถึงกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงได้ โรคนี้มักเกิดกับกลุ่มคนที่มีการทำกิจกรรมในลักษณะที่มีการใช้งานมือซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยมักรู้สึกถึงอาการชา หรือปวด บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้ว ซึ่งอาการปวดจะรบกวนการนอน เมื่อสะบัดมือแรง ๆ อาการปวดหรือชาดังกล่าวจะทุเลาลง หากไม่รีบเข้ารับการรักษาอาจพบการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อในมือ ทำให้บางครั้งหยิบจับสิ่งของได้ลำบากหรือหล่น เกิดการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อในมือซึ่งเห็นชัดบริเวณกล้ามเนื้อนิ้วหัวแม่มือ การรักษาทางกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยอยู่ในระยะเฉียบพลัน การประคบเย็น 15-20 นาที จะช่วยลดการอักเสบและอาการปวดได้ ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด ได้แก่ เลเซอร์กำลังสูง อัลตราซาวด์ รวมไปถึงการใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือเพื่อลดการกดทับบริเวณเส้นประสาท หากอาการยังไม่ทุเลาลง และเริ่มเห็นถึงการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดพังผืดบริเวณข้อมือด้านหน้าเพื่อลดการกดทับเส้นประสาทหรือผ่าตัดซ่อมแซมเส้นประสาท หากพบการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อในมือโดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มืออย่างเห็นได้ชัด

อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับมือของเราล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องใส่ใจ เพราะอาการเจ็บในมือเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เราจึงไม่ควรมองข้ามอาการเจ็บหรือปวดที่เกิดขึ้น หากเราไม่รีบดูแล หรือรักษา อาการเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาปกติได้


เรียบเรียงบทความ โดย คุณพรทิพา วงษ์วรรณ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน