“แผลติดเชื้อ อันตรายถ้าดูแลไม่ถูกวิธี”
22/06/2023
วางแผนเตรียมเกษียณ เริ่มได้เลย ไม่ต้องรอ
12/01/2024

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สร้าง “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” ตอบโจทย์ทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติในระดับประเทศ

เผยแพร่: 5

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เข้าสู่ปี พ.ศ. 2565 สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้สูงวัย ประมาณ 20% ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ หรือกว่า 12 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า จะไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสุดยอด (Super Aged Society) หมายถึง มีจำนวนสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างที่จะมารองรับทางด้านของเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และวิถีชีวิตที่จะโอบอุ้มผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมคนทุกกลุ่มในสังคมให้พร้อมก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ รวมถึงการปรับ Mindset ที่มองผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังของสังคม ที่จะร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะได้

“หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ”ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผลผลิตจากการต่อยอดจากหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 โดยหลักสูตรนี้จะมีความกระชับ มุ่งเน้นฝึกทักษะรู้ทันสื่อตามโมเดล/คาถารู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุจดจำได้และปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญวิทยากรท้องถิ่นหรือนักสื่อสารสุขภาวะสูงวัยสามารถนำไปใช้สอน อบรมให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ของตนได้ง่ายและสะดวก

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทีมฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยสถานการณ์และกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย ปี พ.ศ.2566 กล่าวว่า สถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะของผู้สูงอายุไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งในปี พ.ศ.2566 เป็นการสำรวจเป็นปีที่ 3 โดยในปี พ.ศ.2566 ได้เพิ่มประเด็นเรื่องพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุเข้าไปด้วย เก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป 2,000 คน จาก 5 พื้นที่ พื้นที่ละ 400 คน ได้แก่ ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย ลำพูน น่าน และแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี มหาสารคาม สกลนคร และสุรินทร์ ภาคกลาง ได้แก่ กำแพงเพชร อ่างทอง ชลบุรี และนครนายก ภาคใต้ ได้แก่ สตูล กระบี่ ตรัง และพัทลุง และกรุงเทพมหานคร ที่เป็นตัวแทนของผู้สูงอายุในเขตเมืองหลวง ได้แก่ เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตลาดกระบัง เขตยานนาวา เขตลาดพร้าว และเขตตลิ่งชัน

จากผลการสำรวจระหว่างปี พ.ศ.2564 – พ.ศ.2566 ทำให้มองเห็นแนวโน้มที่สำคัญในด้านสถานการณ์การใช้สื่อ คือ ผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มใช้เวลาเปิดรับสื่อ “ลดลง” โดยผู้สูงอายุที่ใช้สื่อเกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน ลดลงถึง 14.10% เมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตาม สื่อที่นิยมเปิดรับ 3 อันดับแรก ก็ยังคงเดิม คือ สื่อบุคคล โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ข้อมูลในปีนี้ยังชี้ว่าการเปิดรับสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 และ ปี พ.ศ.2565 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร เปิดรับสื่อออนไลน์มากกว่าผู้สูงอายุในส่วนภูมิภาคอย่างชัดเจน และ Line YouTube และ Facebook ก็ยังคงเป็นสื่อออนไลน์ที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุไทย

ในส่วนด้านผลกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุ พบว่า การเปิดรับสื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะในทางบวกเกือบทุกด้าน แต่ด้านปัญญาและด้านจิตใจมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมมากที่สุด คือ ช่วยทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น อาทิ กิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง กิจกรรมจิตอาสา รองลงมาเป็นด้านปัญญา ทำให้ใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น ช่วยให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ยอมรับความเสื่อมของร่างกายได้มากขึ้น และยอมรับความจริงจากการสูญเสียได้มากขึ้น ด้านจิตใจ เสียสละเพื่อผู้อื่นเพิ่มขึ้น ภาคภูมิใจในตนเอง ยอมรับความสามารถของตนเอง และกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ท้าทาย ด้านร่างกาย ทำให้บริหารร่างกายตามวัย มีการดูแลเหงือกและฟัน และด้านเศรษฐกิจ ช่วยให้เกิดการออม หาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน และวางแผนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

แม้ว่าการเปิดรับสื่อจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก สัดส่วนของผู้สูงอายุที่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2566 มีจำนวนผู้สูงอายุไทย รู้ว่าตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อมากถึง 22.40% โดยตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ มีจำนวนมากถึง 70.53 % ในขณะที่ผู้สูงอายุยังคงถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนสูงถึง 14.06% แม้ว่าจะก็เพิ่มจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องได้รับการแก้ไข

ท้ายสุดด้านพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อ ที่ประเมินตามกรอบโมเดล รู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” ผลการสำรวจชี้ว่า ผู้สูงอายุไทยมีพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับปานกลาง โดยความเสี่ยงเกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่ “ไม่หยุด” มากที่สุด และพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อมีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุในเชิงบวก ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ จิตใจ ร่างกาย สังคม ปัญญา และเศรษฐกิจ นั่นคือ ยิ่งผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อมาก ก็ยิ่งทำให้ได้รับผลกระทบจากการเปิดรับสื่อในด้านบวกมากตามไปด้วย ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุไทยมีพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อให้มากยิ่งขึ้น นอกจากจะลดความเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงผ่านสื่อลงได้ ยังจะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะในทุกมิติที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ระดับการศึกษาและรายได้ของผู้สูงอายุที่ต่างกัน ส่งผลต่อพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อที่แตกต่างกัน

“หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อได้ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีการศึกษาและรายได้ในระดับใดก็ตาม


เรียบเรียงบทความ โดย คุณสุทธิรัตน์ สวัสดิภาพ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน