ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”
09/06/2023
“แผลติดเชื้อ อันตรายถ้าดูแลไม่ถูกวิธี”
22/06/2023

ห้องสมุด “คลังความรู้” ประชาชน ในกระแสความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

เผยแพร่: 

ดร.อภิภู สิทธิภูมิมงคล
รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการศึกษาและพันธกิจพิเศษ
หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่มีอิทธิพลมาก และมีข้อมูลข่าวสารมากมายที่ถูกเผยแพร่อยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พฤติกรรมการอ่านของยุคนี้เปลี่ยนไป การอ่านหนังสือในแบบรูปเล่ม มีจำนวนลดน้อยลง แต่การอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเข้าถึงง่าย สามารถอ่านได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต อีกทั้ง มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกในอนาคต ประกอบกับการส่งต่อข้อมูลทางสื่อออนไลน์ที่มีทั้งเรื่องจริงและเท็จปะปนกัน การเข้าถึงรูปเล่มหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการอ่านได้ เช่น หนังสือที่เป็นรูปเล่ม หรือเอกสารต่างๆ ที่ยังต้องเข้าไปอ่านในห้องสมุด หรือซื้อที่ร้านหนังสือ สถานที่เหล่านี้อาจจะกระทบกับผู้อ่านบางกลุ่มเพราะมีความยากลำบากในการเดินทาง หรือมีจำนวนเล่มที่ไม่เพียงพอหรือไม่สอดคล้องกับความต้องการ ทำให้ผู้อ่านบางกลุ่มเข้าถึงหนังสือรูปเล่มได้ยากกว่าการใช้สมาร์ทโฟน

สถาบันการศึกษาจึงมีหน้าที่สำคัญในการเป็นแหล่งความรู้ สร้างการศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างเท่าเทียม ตลอดระยะที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่คอยสนับสนุนความเป็นปัญญาของแผ่นดินตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งปณิธานไว้ โดยเลือกสรรทรัพยากรที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานให้แก่นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ใช้บริการ สามารถนำไปใช้ประกอบการเรียน ค้นคว้าและสร้างผลงานวิจัย เช่น ตำราที่คัดเลือกจากผู้สอน หนังสือส่งเสริมการอ่านที่มีความเหมาะสม รวมถึงการคัดเลือกสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมการศึกษา และแวดวงการวิจัยเพื่อให้เกิดการผลิตผลงานที่ดีและสามารถส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคมไทย

นอกจากนี้ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ยังให้ความสำคัญต่อการปลูกฝังทักษะพื้นฐานตั้งแต่ระดับโรงเรียน เริ่มจากการอ่านและการเขียนให้เป็น ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าให้อ่านเยอะๆ เพียงอย่างเดียว แต่อ่านแล้วสามารถนำมาวิเคราะห์สาระสำคัญที่มีประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ จึงมีการเข้าไปร่วมปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐมให้มีคุณภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสร้างการเรียนรู้ แนะนำการเลือกสรรข้อมูลที่ถูกต้อง การสังเกตแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ข้อควรระวังจากสื่อรูปเล่มและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้รู้จักวิเคราะห์สาระและประโยชน์ที่จะได้จากสื่อ เช่น การอ่านข่าวสารเว็บไซต์ จะต้องดูว่า URL อะไร มีความน่าเชื่อถือไหม ให้มีการสังเกตแหล่งกำเนิดของข้อมูล ถือเป็นการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อด้วย

ด้วยพฤติกรรมการใช้ห้องสมุดของคนในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจะปรับห้องสมุดจากเดิมที่เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้า อ่านหนังสือ ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่เปิดกว้าง บนพื้นฐานแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองต่อผู้ใช้บริการทุกกลุ่มคนและทุกวัย มีพื้นที่ให้เกิดการจัดกิจกรรมให้ครบรูปแบบในทุกกลุ่มวัย เช่น Book Fair หรือสัมมนา ที่เชิญนักเขียนที่มีคุณภาพ สะท้อนและเป็นประโยชน์แก่สังคม และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้น เช่น การแนะนำหนังสือน่าอ่านผ่านสื่อออนไลน์ของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

ล่าสุดได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายภายนอกปลุกกระแสแวดวงวรรณกรรมไทยและอาเซียนให้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง พร้อมดึงเยาวชนและนักอ่านรุ่นใหม่ให้สร้างงานเขียนและการอ่านอย่างมีคุณค่า เพื่อพัฒนาศักยภาพพัฒนาความคิดและการเติบโตทางสังคมมีโอกาสได้อ่านและศึกษาเสน่ห์ของวรรณกรรมซีไรต์ที่ผู้อ่านเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แนวคิด มองภาพปัจจุบัน – อนาคตผ่านวรรณกรรมซีไรต์ และยังสนับสนุนให้นักอ่านรุ่นใหม่ได้ฝึกกระบวนการอ่านและจินตนาการต่อยอดผลงานของตนเองผ่านการอ่านวรรณกรรม ในงาน “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” จะจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.siamclmt.com


เรียบเรียงบทความ โดย คุณวราภรณ์ น่วมอ่อน
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน