“ห้องสมุดดิจิทัล” ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับการศึกษา
12/05/2023
“Physical Fitness Test” สำคัญอย่างไร
19/05/2023

การแพทย์ทางเลือกแบบฝังเข็ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย

เผยแพร่: 28 เม

แพทย์หญิงปิยะวรรณ งามองอาจ
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งที่ใช้ในการรักษา ฟื้นฟู และบำรุงสุขภาพร่างกายโดยใช้หลักการแพทย์แผนจีน อันเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการสืบทอดมายาวนานหลายพันปีตั้งแต่สมัยจีนโบราณจนถึงปัจจุบัน เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายมนุษย์กับธรรมชาติ รวบรวมเป็นทฤษฎีต่างๆ เช่น ทฤษฎีธาตุทั้งห้า ที่ว่าด้วยร่างกายมนุษย์นั้นประกอบไปด้วยห้าธาตุ อันได้แก่ ธาตุไม้ ธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุทอง ธาตุน้ำ ไปสัมพันธ์กับทฤษฎีจั้งฝู่ ที่ว่าด้วยอวัยวะหลักและอวัยวะรองที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย สัมพันธ์กับทฤษฎีเส้นลมปราณ อันเป็นทางไหลเวียนของปราณหรือชี่ ทฤษฎีอิน-หยาง ที่ว่าด้วยร่างกายนั้นประกอบไปด้วยสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม เช่น ความร้อน-ความเย็น ความหนักแน่น-ความอ่อนไหว ซึ่งอยู่กันอย่างสัมพันธ์และสมดุลกัน เมื่อเสียสมดุลก็จะเกิดการเจ็บป่วย องค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์อาการ วินิจฉัย และทำการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ของแพทย์แผนจีน ซึ่งได้แก่ การฝังเข็ม การรมยา การครอบแก้ว กัวซา การนวดทุยหนา การกดจุด การใช้ยาสมุนไพร หรือการออกกำลังกายแบบไท่ชิ

ลักษณะของการฝังเข็ม คือ การที่แพทย์ใช้เข็มเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.13 – 0.3 มิลลิเมตร ปักลงไปที่จุดต่าง ๆ บนร่างกาย จุดเหล่านี้เป็นจุดจำเพาะซึ่งสัมพันธ์อยู่บนเส้นลมปราณ เพื่อปรับสมดุลเส้นลมปราณ แก้ไขภาวะติดขัดของลมปราณและสารเหลวในร่างกาย ปรับสมดุลการทำงานของอวัยะต่าง ๆ เสริมภูมิคุ้มกันและเสริมพลังของร่างกายให้ดีขึ้น บางครั้งเมื่อปักเข็มแล้วจะมีการกระตุ้นเข็มด้วยมือหรือกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (electrical stimulation) ประมาณ 20-30 นาที บางสถาบันจะใช้การรมยา (Moxibustion) ร่วมด้วย โดยใช้โกฐจุฬาลัมภา ซึ่งเป็นสมุนไพรปั้นเป็นก้อนให้มีลักษณะคล้ายธูปชนิดแท่ง ติดบริเวณหัวเข็มและจุดให้เกิดควัน ทำให้เกิดความอบอุ่นของเส้นลมปราณ ขจัดความชื้น บำรุงร่างกาย ปรับสมดุลลมปราณและทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น

กลุ่มอาการที่เหมาะกับการรักษาบรรเทาอาการด้วยการฝังเข็มที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แก่
-กลุ่มอาการปวด เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่หลัง ปวดข้อ ข้อไหล่ติด ปวดเข่า ปวดสะโพก อาการปวดร้าวลงขา ปวดศีรษะไมเกรน
-กลุ่มโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด
-กลุ่มโรคทางระบบประสาท เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตใบหน้า เหน็บชา
-กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
-กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน ท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย
-กลุ่มโรคระบบนรีเวชวิทยา เช่น อาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ วัยทอง
-กลุ่มอาการอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ ความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้การฝังเข็มช่วยเสริมความงาม ลดน้ำหนัก ลดสิวและฝ้า บำรุงผิวพรรณได้อีกด้วย ข้อควรระวังในการฝังเข็มได้แก่
– งดฝังเข็มในผู้ป่วยมะเร็งที่ยังไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่เพียงพอในความปลอดภัย
– งดฝังเข็มในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสแรก
– งดฝังเข็มในผู้ที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
– งดฝังเข็มและกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

นอกเหนือจากนี้ ยังควรระวังในการฝังเข็มเด็กเล็กที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ อยู่นิ่งไม่ได้ หรือผู้ป่วยที่กลัวเข็มอาจต้องใช้วิธีครอบแก้วหรือนวดกดจุดทดแทน

การเตรียมตัวก่อนมาฝังเข็ม ควรนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารก่อนมาฝังเข็มไม่ปล่อยให้ท้องหิว เนื่องจากอาจเกิดอาการเมาเข็มหรือเป็นลมได้ แต่ไม่ควรรับประทานจนอิ่มเกินไป สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ที่หน่วยเวชศาสตร์แผนจีนมีชุดให้เปลี่ยน เพื่อให้เหมาะกับการฝังเข็ม แพทย์จะทำการฝังเข็มโดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย ขณะฝังเข็มผู้ป่วยจะอยู่ในท่านั่งหรือนอนขึ้นอยู่กับอาการ ขณะมีเข็มอยู่บนตัวไม่ควรขยับร่างกายจนฝังเข็มครบเวลา ให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนในท่าที่ผ่อนคลายไม่ควรเกร็งจนเกินไป โดยจำนวนเข็มที่ใช้จะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละโรค
ผลข้างเคียงของการฝังเข็มที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการเมาเข็ม มักเกิดในผู้ป่วยที่กลัวเข็ม หรือมีภาวะเครียด พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ลักษณะคือหน้ามืด วิงเวียน เหงื่อออก เกิดจากการร่างกายกระตุ้นการตอบสนองโดยระบบประสาทอัตโนมัติ คล้ายการเป็นลม สามารถเกิดขึ้นได้ในครั้งแรก ๆ ที่ฝังเข็ม หรือบางครั้งอาจมีจุดจ้ำเล็ก ๆ ในบริเวณที่ฝังเข็มได้ แต่ส่วนใหญ่พบว่าไม่มีอันตรายใด ๆ

เนื่องจากการฝังเข็มเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม จึงใช้รักษาบรรเทาอาการได้ครอบคลุมหลายกลุ่มโรคได้อย่างปลอดภัยและได้ผลค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามการฝังเข็มยังเป็นเพียงการแพทย์ทางเลือก ที่ต้องควรเลือกใช้อย่างเหมาะสม สามารถเลือกรับการฝังเข็มควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบันโดยไม่ขัดแย้งกัน เมื่อเข้ารับการฝังเข็มแล้วควรที่จะมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมด้วย เช่น ผู้ป่วยเบาหวานหากเข้ารับการฝังเข็มควบคู่กับการรับประทานยาอาจช่วยให้ลดการใช้ยาลงได้ แต่ผู้ป่วยไม่หยุดยาเอง ควรเข้ารับการตรวจติดตามค่าน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ และปรับยาโดยความเห็นแพทย์เท่านั้น ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกาย หรือในกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วงแรกที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ควรได้รับการดูแลจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน เมื่ออาการและสัญญาณชีพคงที่ในสภาวะปลอดภัยแล้ว สามารถมารับการฝังเข็มได้เพื่อฟื้นฟูร่างกายได้ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว การฝังเข็มเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ใช้ดูแลสุขภาพโดยองค์รวม ช่วยบำรุง รักษา ส่งเสริมและปรับสมดุลร่างกาย โดยไม่ขัดแย้งกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน มีประโยชน์กับคนที่กำลังเผชิญกับโรคเรื้อรังต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว หากบางท่านรู้สึกว่าตนเองกินยาเยอะ จนเกิดผลข้างเคียงของยา เช่น กินยาแก้ปวดมากจนเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีภาวะค่าไตขึ้นสูง การฝังเข็มร่วมรักษาสามารถช่วยลดการใช้ยา ลดการเกิดผลข้างเคียงได้ การฝังเข็มจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกรักษาที่มีความปลอดภัยและได้ผลค่อนข้างดี ซึ่งท่านสามารถเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป


เรียบเรียงบทความ โดย คุณสาธิดา ศรีชาติ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน