พลังครอบครัว เสริมภูมิคุ้มกัน จากการ “บูลลี่” (Bully)
14/04/2023
เภสัชฯ ม.มหิดล เตือนซื้อยาชุดรับประทานเอง เสี่ยงร่างกายพังไม่รู้ตัว
31/03/2023

สัตว์เลี้ยงสุขภาพกายดี สุขภาพใจดี

เผยแพร่: 

โดย…น.สพ.กรมิษฐ์ เจนจิรวัฒน์ ผู้ช่วยอาจารย์ประจำภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ คน มีความต้องการที่จะมีสัตว์เลี้ยงในครอบครัว เพื่อเอาไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา บางครอบครัวเลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว ชีวิต จิตใจและความรู้สึก เปรียบเสมือนศูนย์รวมในการเพิ่มความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้

เจ้าของสัตว์ควรเข้าใจและศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมให้รอบด้าน อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับ หลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ (Five Freedom) เพื่อวัดคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อิสระจากความหิวกระหาย การได้รับอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ และอาหารจะต้องมีคุณภาพ ได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนสมดุล อิสระจากความไม่สบายกาย ดูจากสภาพแวดล้อมที่อยู่ มีพื้นที่ที่ระบายอากาศเหมาะสม ไม่อยู่ในพื้นที่แออัด มีที่ให้หลบฝนหลบแดด อิสระจากการเจ็บป่วยและโรคภัย สัตว์เลี้ยงควรได้รับการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม หมั่นพาไปออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี ไปหาสัตวแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บป่วย อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ

สัตว์ต้องได้รับการดูแลไม่ให้เกิดความรู้สึกกลัวหรืออยู่ในภาวะเครียด เพราะจะส่งผลให้ร่างกายและจิตใจอ่อนแอ จนอาจนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้ และอิสระในการแสดงออกพฤติกรรมทางธรรมชาติ สัตว์เลี้ยงจะมีพฤติกรรมตามสัญชาตญาณ เช่น สุนัข ต้องมีการเห่าหรือหอน แมวก็จะต้องมีการฝนเล็บหรือปีนป่าย

หากพฤติกรรมทางธรรมชาติเหล่านี้รบกวนเจ้าของหรือผู้ใกล้ชิด อาจจะหาวิธีที่ปรับลดพฤติกรรม หรือปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อปรับพฤติกรรม เช่น สุนัขและแมวตัวผู้ที่มีการแสดงอาณาเขตโดยการปัสสาวะในที่ต่าง ๆ ของบ้าน หากพบว่าเป็นปัญหา ก็สามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำหมันในช่วงอายุที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้

เจ้าของสัตว์จะต้องคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพของสัตว์เป็นพื้นฐานในการเลี้ยงให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในระหว่างการเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดใดก็ตาม ก็อาจจะมีคำถาม หรือข้อสงสัยตามมา คำถามที่พบบ่อย เช่น สัตว์เลี้ยงของเราอ้วนไปหรือไม่ ผอมไปหรือเปล่า สัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่างสุนัขและแมวก็มีหลากหลายสายพันธุ์ หรือบางสายพันธุ์ก็อาจมีหลายขนาด สุนัขบางสายพันธุ์มีรูปร่างที่ดูอ้วนกว่าเมื่อเทียบกับอีกสายพันธุ์หนึ่ง หรือแมวบางสายพันธุ์มีลักษณะผอมกว่าเมื่อเทียบกับอีกสายพันธุ์หนึ่ง

การประเมินขนาดตัวของสัตว์จะประเมินจากค่าคะแนนร่างกาย (Body condition score) ซึ่งเป็นพื้นฐานการตรวจสุขภาพที่สัตวแพทย์ทำในทุกครั้งที่สัตว์เข้ามาพบ แต่อาจจะไม่ได้แจ้งรายละเอียดการประเมินเจ้าของให้ทราบ ยกเว้นในกรณีที่สัตว์มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะผอมหรืออ้วนมากเกินไป หากเจ้าของต้องการทราบหรืออยากได้คำแนะนำใด ๆ ก็สามารถสอบถามกับสัตวแพทย์ได้ เนื่องจากหากน้ำหนักตัวของสัตว์เลี้ยงมากเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่จะมีโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมันพอกตับ และ โรคตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ยังมีผลต่อการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การวางยาทำได้ค่อนข้างยากและมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มากขึ้น หากเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ ก็อาจจะมีปัญหากระดูกและข้อตามมาได้ สัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักที่มากเกินไป อาจไม่ได้แสดงอาการป่วยออกมาให้เห็นในทันทีทันใดแต่ภาวะโรคอ้วนจะเหนี่ยวนำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา หรือ กระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่แสดงอาการหนักขึ้น

เจ้าของเองสามารถประเมินขนาดตัวของสัตว์เลี้ยงของตัวเองในเบื้องต้นได้จากการสังเกตด้วยตาเปล่า ถ้าอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักที่เหมาะสม เมื่อมองจากภายนอก ด้านบนลงมา ควรจะสังเกตช่วงเอวที่เว้าได้ ทั้งในสุนัขและแมว มองจากด้านข้างในช่วงสะโพกก็ควรจะสังเกตช่วงเอวเว้าขึ้นได้ ถ้ามองที่บริเวณอกจะต้องไม่เห็นซี่โครง แต่ยังสามารถคลำแล้วเจอซี่โครงได้โดยง่าย ช่วงท้องต้องไม่เห็นเป็นพุงห้อยย้อยลงมา

ถ้าน้ำหนักเกินเกณฑ์ จะเริ่มไม่เห็นช่วงเอว คลำจับหาซี่โครงได้ยากหรือคลำไม่ได้เลย และจะเห็นพุงห้อยย้อยลงมา ในส่วนของการประเมินในกรณีที่น้ำหนักน้อยจนเกินไปก็จะสามารถสังเกตได้จากกระดูก ซี่โครง สะโพก และกระดูกสันหลัง ที่จะสามารถสังเกตได้โดยง่าย

นอกจากเรื่องรูปร่างและขนาดของสัตว์เลี้ยงแล้ว เจ้าของยังสามารถสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงและสังเกตถึงความผิดปกติจากพฤติกรรมแต่ละวัน หากพบความผิดปกติไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน เจ้าของก็นำสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากในบางครั้งสัตว์จะมีพฤติกรรมซ่อนอาการเจ็บป่วย หากเจ้าของสังเกตเห็นความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ปัญหาที่มีอาจใหญ่กว่านั้น

เจ้าของสามารถสังเกตพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ความผิดปกติทางพฤติกรรมจากที่เล่นด้วยได้ปกติแต่กลายเป็นไม่ให้เข้าใกล้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเกินกว่าปกติ มีการขู่หรือกัดเมื่อถูกสัมผัสในบางบริเวณ มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น เหม่อลอย งับอากาศ เดินชนข้าวของ หรือ ไม่สามารถเดินออกจากมุมห้องได้ การเดินการยืนการนั่งมีท่าทางการลงน้ำหนักอย่างไร ผิดปกติไหม การสังเกตการขับถ่ายและลักษณะของมูล หรือการเหยียดตัวแบบบิดขี้เกียจมากเกินไป ถ้าทำมากก็อาจจะเป็นสัญญาณของอาการปวดท้องได้ รวมถึงความผิดปกติที่เห็นได้ง่าย เช่น ไม่กินน้ำ ไม่กินอาหาร ฉี่กระปริบกระปรอยหรือไม่เป็นที่ น้ำหนักตัวลดในเวลาอันสั้น หรือเสียงร้องเสียงเห่าที่โทนเสียงเปลี่ยนไป ก็อาจแสดงถึงปัญหาทางสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ เจ้าของยังสามารถศึกษาข้อมูลขอคำแนะนำได้จากคนเจ้าของคนอื่น เช่น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านของเราเพื่อให้เหมาะกับการเลี้ยง ปัญหาที่อาจพบได้หลังรับสัตว์เข้ามาเลี้ยง หรือ คำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ จากประสบการณ์ของเจ้าของท่านอื่น แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการรักษาสัตว์เลี้ยงที่มีอาการป่วยด้วยวิธีต่าง ๆ และไม่แนะนำในเรื่องการรักษาที่ทำตาม ๆ กัน เพราะเห็นว่า สัตว์เลี้ยงของเรามีอาการคล้ายกับสัตว์เลี้ยงของเขา แล้วเขาใช้ยาหรือการรักษาเบื้องต้นแบบนั้นแล้วหาย

อยากให้เข้าใจว่า แม้ว่าเราเห็นภายนอกว่ามีอาการเหมือนกัน สัตว์อาจป่วยเป็นคนละโรคที่มีวิธีการรักษาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงได้ จึงควรระวัง นอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายแก่สัตว์เลี้ยงได้ เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยจึงควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อประเมินอาการจำแนกโรคและรับการรักษาอย่างถูกโรค ถูกวิธี จะดีกว่า สัตว์เลี้ยงไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ ในหลาย ๆ ครั้งสัตวแพทย์จึงต้องใช้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการร่วมในการวินิจฉัยด้วย บางครั้งเจ้าของจะไม่เข้าใจ เพราะอาจจะเปรียบเทียบกับตนเองเวลาไปพบแพทย์หากไม่ได้มีอาการป่วยมาก แค่พูดคุยกับแพทย์และตรวจเบื้องต้น ก็จะได้รับยาเลย

แต่สำหรับสัตว์เลี้ยง จะต้องพึ่งพาการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคเป็นหลัก และค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลของสัตว์ก็จะมีราคาที่ใกล้เคียงกับในคนหรือแพงกว่า ยาบางตัวที่ใช้ ก็เป็นตัวยาชนิดเดียวกันกับของคนแต่ปรับรูปแบบให้สัตว์รับได้ง่ายขึ้น หรือบางตัวก็เป็นยาที่ผลิตมาเพื่อรักษาสัตว์โดยเฉพาะ ซึ่งต้นทุนก็จะสูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้นตามไปด้วย
จากความเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ดังนั้น เราอาจจะต้องปรับพฤติกรรมการเลี้ยงของเราเอง และของสัตว์เลี้ยงเพื่อส่งเสริมให้เขาได้มีสุขภาพที่ดี เมื่อรับมาเลี้ยงแล้ว จะนำไปปล่อยให้กลับไปอยู่ที่เดิมก็ไม่ควรทำ เราต้องเลี้ยงเขาให้ดีด้วยความรักและความใส่ใจในทุก ๆ ด้านเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน ให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมาะสม และมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อที่จะอยู่แบ่งปันความสุขกับสมาชิกครอบครัวได้อย่างดี


เรียบเรียงบทความ โดย คุณพรทิพา วงษ์วรรณ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน