มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 43 “หนังสือพิมพ์แนวหน้า”
24/03/2023มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 60 “หนังสือพิมพ์เดลินิวส์”
28/03/2023เผยแพร่:
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ จิตต์เจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
และรองผู้อำนวยการฝ่ายการคลังและประกอบการสังคม สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ในปัจจุบันการที่วางแผนสร้างครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่อยากมีครอบครัวจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งด้านการเงิน ที่อยู่อาศัย ความพร้อมด้านร่างกายของพ่อและแม่ ซึ่งการเตรียมสุขภาพให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะมารดา เพราะเมื่อมารดามีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ย่อมมีโอกาสคลอดลูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพดีไปด้วย และไม่เฉพาะด้านทางสุขภาพเท่านั้นที่สามารถเตรียมความพร้อมได้ เราสามารถกระตุ้นการพัฒนาสมองของลูกน้อยให้ดีได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ จิตต์เจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และรองผู้อำนวยการฝ่ายการคลังและประกอบการสังคม สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเตรียมสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่จะมีลูก ทั้งพ่อและแม่ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาโรคต่าง ๆ ที่จะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลไปยังลูก หรือโรคที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น ธาลัสซีเมีย เพราะหากพ่อหรือแม่มีโรคธาลัสซีเมียแฝงอยู่ อาจจะถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ ตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี เนื่องจากเป็นเชื้อที่สามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์และเลือด ตรวจหาภูมิคุ้มกันของหัดเยอรมัน หากแม่เป็นหัดเยอรมันตอนตั้งครรภ์ เด็กในครรภ์ก็จะมีความเสี่ยงที่จะพิการ และมีโอกาสแท้งสูง เป็นต้น
นอกจากการตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์แล้ว ยังแนะนำให้ผู้หญิง รับประทานยากรดโฟลิก อย่างน้อย 3 เดือน ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการเกิดความพิการของทารกในครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้ว พ่อแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูกที่อยู่ในครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนแรก ซึ่งสมองทารกจะเริ่มมก่อตัว อันได้แก่ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง โดยปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์มีอยู่ 3 ปัจจัยอันประกอบด้วย
ปัจจัยที่ 1 พันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ หมายถึง การถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้โดยยีน เช่น สีผิว เส้นผม สีตา นอกจากนี้พัฒนาการของสมองมากกว่า 80% ของยีนทั้งหมดในร่างกาย ยังมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง และระบบประสาท ซึ่งปัจจัยทางกรรมพันธุกรรมนี้เป็นเรื่องที่ติดตัวมาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ พ่อแม่ที่เฉลียวฉลาดก็จะถ่ายทอดลักษณะที่ดีนี้มาให้ลูกได้ด้วย
ปัจจัยที่ 2 การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แม่ตั้งครรภ์จะต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ เพราะสารอาหารที่แม่ทานเข้าไปจะส่งผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของทารก โดยสารอาหารที่แม่ตั้งครรภ์จะต้องได้รับ ได้แก่ กรดโฟลิก ซึ่งเป็นสารที่มีความจำเป็นสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โดยควรได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อยวันละ 0.4-4 มิลลิกรัม โดยพบได้ในผักใบเขียว เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ปวยเล้ง ผักบรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วลันเตา ผักกาดหอม น้ำส้ม ตับหมู ตับไก่ เมล็ดทานตะวัน ธัญพืชไม่ขัดสี หากแม่ขาดกรดโฟลิกทารกจะเสี่ยงต่อความพิการ อาจจะเกิดความพิการทางสมอง กะโหลกศีรษะไม่ปิด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ในการนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยช่วงของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีปริมาณเลือดมากขึ้นถึงร้อยละ 50 เพื่อให้เพียงพอต่อการนำสารอาหารและออกซิเจนไปพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับธาตุเหล็กวันละ 6-7 มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ เลือด ตับ เครื่องในไก่ ปลา กุ้ง แต่ทั้งนี้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้ร้อยละ 100 แม่จึงควรรับประทานธาตุเหล็กเสริมด้วย หากขาดธาตุเหล็กจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต การสร้างสมอง ทำให้ทารกในครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักน้อย รวมถึงส่งผลต่อการเรียนรู้ในระยะยาวหลังจากที่คลอดออกมา ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์ ช่วยสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ปกติจะได้รับสารไอโอดีนจากเกลือที่มีในอาหารอยู่แล้ว แต่ยังไม่พียงพอสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ถ้าหากจะให้เพียงพอ ควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อยวันละ 250 ไมโครกรัมต่อวัน ได้แก่ อาหารทะเล เกลือเสริมไอโอดีน หากขาดไอโอดีนหรือได้รับในปริมานที่ไม่เพียงพอจะส่งผลให้ลูกในครรภ์เกิดความพิการทางสมอง เกิดความพิการทางสติปัญญา ทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อนในทารกได้ กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่เป็นประโยชน์และสำคัญกับแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากในกรดไขมันโอเมก้า 3 มีกรดไขมันที่ชื่อ Docosahexaenoic Acid หรือ DHA เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสำคัญในการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะด้านความจำและการเรียนรู้ ลดความเสี่ยงของภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ช่วยบำรุงร่างกายของเด็กในครรภ์ให้พัฒนาไปตามเกณฑ์ ช่วยให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักสมบูรณ์ และมีร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับกรดไขมันโอเมก้า 300มิลลิกรัมต่อวัน ได้แก่ ปลาทะเลน้ำลึก ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน หรือปลาน้ำจืด เช่น ปลาสวาย ปลาช่อน ปลาดุก และในธัญพืช ถั่วเหลือง
ปัจจัยที่ 3 ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุดคืออารมณ์ของแม่ตั้งครรภ์ มีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ หากแม่มีความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ อารมณ์แปรปรวน โกรธ หงุดหงิด ร่างกายจะหลังสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดที่ชื่อว่า คอร์ติซอล (cortisol) โดยผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ ส่งผลกระทบกับพัฒนาการทารกทางด้านสมอง เกิดการพัฒนาของสมองล่าช้า เติบโตช้า หากเลี่ยงความเครียดไม่ได้ก็ต้องมีให้น้อยที่สุด หาสิ่งผ่อนคลายความเครียด ควบคุมอารมให้ดีก็เป็นการช่วยได้ การกระตุ้นด้วยเสียง ทารกในครรภ์สามารถรับรู้เสียงได้ตั้งแต่ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป แม่สามารถ พูดคุยกับทารกในครรภ์ สร้างความคุ้นเคยกับลูก เพราะลูกสามารถจำเสียงพ่อและแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง หลังคลอดหากทารกงอแง เมื่อได้ยินเสียงของพ่อหรือแม่ก็อาจทำให้ลูกน้อยสงบลงง่ายขึ้น หรือจะเป็นการเปิดเพลง โดยเสียงดนตรีจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ ให้มีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เสริมสร้างอารมณ์ที่แจ่มใสได้ การกระตุ้นการมองเห็น ระบบการมองเห็นของทารกจะเริ่มเมื่อเข้าสู่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป แม่สามารถนำไฟฉายส่องเคลื่อนไปมาซ้าย ขวา หรือเปิด ปิดไฟฉายเป็นจังหวะๆ บริเวณผิวหน้าท้องแม่ ทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพ และการมองเห็นของทารกมีพัฒนาการดีขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด การกระตุ้นด้วยการสัมผัส หลังจาก3เดือนแรกของการตั้งครรภ์เป็นต้นไปทารกจะสามรถรับรู้สัมผัสทางกายได้ แม่สามารถสัมผัสลูกได้ด้วยการลูบเบา ๆ จากล่างขึ้นบน ลูบเป็นวงกลม หรือตบเบา ๆ ผ่านหน้าท้อง จะทำให้ทารกรู้สึกได้ถึงแรงสั่น การสัมผัสของแม่นั้นจะไปช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้รู้สึกสงบอบอุ่น เสริมสร้างความผูกพันระหว่างแม่และลูกในครรภ์ได้
จะเห็นได้ว่าพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของพ่อและแม่เพียงเท่านั้น แต่เราสามารถส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยให้ดีได้…..ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อให้ลูกน้อยของเราคลอดออกมาเป็นเด็กที่มีความสมบูรณ์แบบ และเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีในการเจริญเติบโตต่อไปในอนาคต
เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป