เผยแพร่:
เผยแพร่:
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา เล็กดำรงกุล
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย (DNA) หรือสารพันธุกรรมในร่างกายที่มีการแบ่งตัวผิดปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม และ/หรือกลไกการซ่อมแซม DNA ในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เซลล์ที่ผิดปกติเกิดการแบ่งตัวมากขึ้น จนกลายเป็นเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของโรคมะเร็งนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง และระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเกิดจากหลายสาเหตุ สามารถจำแนกง่าย ๆ เป็น 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1.ตัวเรา – เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นมาแต่กำเนิด การติดเชื้อไวรัส และความเสื่อมของร่างกายจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การได้รับถ่ายทอดยีนส์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัส HPV และไวรัส HIV เป็นต้น
2.สภาพแวดล้อม – การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษไม่สะอาด เช่น ฝุ่น PM 2.5, ควันบุหรี่มือสอง, การสูดดมสารพิษจากการประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม และการสัมผัสสารเคมีหลายชนิดเป็นประจำ เป็นต้น
3.พฤติกรรมของบุคคล – การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การไม่ป้องกันตนเองจากแสงแดด, การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นประจำ เช่น อาหารประเภทปิ้งย่าง, การรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ภาวะโรคอ้วน และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
ในชีวิตประจำวันของเรามีสารมากมายที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในร่างกาย หากได้รับสารหรือสัมผัสสารเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน เช่น สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) จากเชื้อราในถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กุ้งแห้ง หัวหอม กระเทียม เป็นต้น สารเฮทเทอโรไซคลิก เอมีน (Heterocyclic Amines; HCAs) ในอาหารประเภทปิ้งย่างไหม้เกรียม สารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) พบสารชนิดนี้ในอาหารที่ทอดหรืออบด้วยความร้อนสูง อาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้งขึ้นไป จะส่งผลให้มีสารก่อมะเร็งจากการแตกตัวของน้ำมันที่เสื่อมสภาพ มักพบได้ในอาหารประเภท มันฝรั่งทอด ปาท่องโก๋ กล้วยแขก (ที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ) ขนมปังอบกรอบเกรียม สารไนเตรต–ไนไตรต์ (Nitrate-Nitrite) หรือสารเร่งเนื้อแดง มักพบในผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง ฯลฯ สารออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) เป็นสารจากยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมากับผล ผลไม้ และสารแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) จากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมในร่างกายในปริมาณที่สูงขึ้นจนทำให้ร่างกายขับออกไม่ทันและจะเข้าไปทำลาย DNA ในร่างกายรวมถึงกระตุ้นยีนส์มะเร็งต่าง ๆ ในร่างกาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา เล็กดำรงกุล กล่าวว่า สารก่อมะเร็งต่าง ๆ ผสมผสานอยู่หลากหลายส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งเหล่านี้เราสามารถทำได้โดย การเลือกการรับประทานอาหาร การเลือกสรรวัตถุดิบในการประกอบอาหาร (กรณีที่ทำอาหารรับประทานเอง) ล้างผักผลไม้ให้ถูกต้องตามกรรมวิธี เลือกซื้อผักและเนื้อสัตว์จากแหล่งที่ปลอดภัยจากสารพิษ รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนที่เป็นต้นทางในการผลิตอาหาร เช่น การปลูกผักแบบปลอดสารพิษ หรือเลี้ยงสัตว์แบบปลอดสารเคมี นอกจากนี้ การควบคุมน้ำหนัก การตรวจเต้านมด้วยเอง การตรวจมะเร็งปากมดลูก การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร และฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกำหนด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตอาการของตนเองในเบื้องต้นได้ด้วยสัญญาณอันตราย 7 ประการ ที่บ่งชี้ว่าอาจจะมีโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็ง ได้แก่ 1) ระบบขับถ่ายอุจาระ/ปัสสาวะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีอาการท้องผูกสลับกับอาการท้องเสีย อุจาระลำเล็กลง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะปนเลือด เป็นต้น 2) เป็นแผลแล้วหายยาก 3) มีสารคัดหลั่งไหลผิดปกติไหลออกตามรูทวารของร่างกาย เช่น เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ตกขาวผิดปกติ เป็นต้น 4) คลำพบก้อนเนื้อ ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย 5) การรับประทานอาหารมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีอาการกลืนลำบาก กลืนอาหารแล้วเจ็บ 6) มีไฝ หูด ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น สีเข้มขึ้น มีเลือดไหลออกมา 7) มีอาการไอผิดปกติ เจ็บคอ เสียงแหบ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในปัจจุบันจะใช้วิธีการผ่าตัด เคมีบำบัดหรือยารักษาแบบมุ่งเป้า และรังสีรักษา โดยแพทย์พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดของโรคมะเร็งและระยะของโรคมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละรายไป อย่างไรก็ดีแพทย์/พยาบาลจะทำหน้าที่ในการรักษาโรคทางกายเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยเองจะต้องช่วยแพทย์/พยาบาลดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจควบคู่กันไป การดูแลตนเองง่าย ๆ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระหว่างรับการรักษา คือการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างน้อยวันละ 2,000 – 3,000 มิลลิลิตร/วัน รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ ถั่ว หลีกเลี่ยงผักสดและของหมักดอง เช่น ส้มตำ ยำ น้ำพริกต่าง ๆ รักษาความสะอาดของร่างกาย และสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการไปในแหล่งชุมชนหลังได้รับยาเคมีบำบัด 7-14 วัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อ อย่างไรก็ดีผู้ป่วยมะเร็งระหว่างได้รับการรักษา สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อป้องกัน/บรรเทาอาการอ่อนล้า (fatigue) หากิจกรรมที่ชอบทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง สวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการเจ็บป่วย คลายความวิตกกังวล ความเครียดจากการอาการเจ็บป่วย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัว สามารถช่วยกันดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยในระหว่างการรักษา เพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการรักษาโรคมะเร็งได้
เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |