เผยแพร่:
เผยแพร่:
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ
รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา/ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อโภชนาการ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล
ปริมาณอาหารเหลือจากการรับประทาน การทำอาหาร รวมถึงอาหารเน่าเสียที่ไม่สามารถรับประทานได้ นอกจากจะเป็นการสูญเสียอาหารซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหารแล้ว ขยะอาหารเหล่านี้ยังสามารถสร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้ด้วย จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งในโลกนี้ อาจมีปริมาณเทียบได้เท่ากับ 3,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี (4)
Food ingredients Asia (Fi Asia) เปิดเผยถึง 9 เทรนด์ของอาหารและเครื่องดื่มสำหรับปี 2023 ที่ภาพรวมผู้บริโภคจะเน้นอาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ โดยหนึ่งในเทรนด์อาหารที่ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารหันมาให้ความสนใจมากขึ้น คือ การตระหนักถึงความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงกระบวนการผลิตอาหารที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “Upcycling and Sustainability Foods” คำว่า “Upcycle” มาจากคำว่า Upgrade + Recycle คือการนำเอาของที่เหลือใช้หรือขยะมาทำให้เกิดประโยชน์หรือเกิดมูลค่ามากขึ้น โดยในแวดวงอาหารคือการนำเอาอาหารขยะที่เหลือมาสร้างผลิตภัณฑ์ หรือ By-product ให้ได้ (1) ส่วนคำว่า “Sustainable Food” จะหมายถึง วิธีการเตรียมอาหารในลักษณะที่ส่งผลกระทบน้อยต่อสิ่งแวดล้อม และต่อโลกใบนี้ (2) นั่นก็คือ การนำเอาของที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผู้บริโภคภาคครัวเรือนก็หันมาปรับพฤติกรรมการรับประทาน รวมถึงการวางแผนการซื้อ เพื่อลดปริมาณขยะจากอาหารให้ได้มากที่สุดเพื่อสุขภาพที่ดี และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม Mintel Global Consumer research ระบุว่า 60% ของผู้บริโภคชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เห็นด้วยกับการให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ระบุผลข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมผลิตภัณฑ์ เช่น Carbon footprint, Eco-Score เป็นต้น (3)
Fi Asia ให้ข้อมูลว่า กว่า 1 ใน 3 ของอาหารทั่วโลกที่ผลิตขึ้น ไม่ได้ถูกรับประทานและกลายเป็นขยะอาหารที่ไม่เพียงแต่ส่งผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษมีอาหารที่สูญเสียอย่างเปล่าประโยชน์มากถึง 17 ล้านตัน/ปี สหรัฐอเมริกา 34 ล้านตัน/ปี กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป 90 ล้านตัน และในอีกหลาย ๆ ประเทศประสบปัญหาอาหารเหลือทิ้ง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที (3) / (4)
นอกจากนี้ Fi Asia ยังบอกว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่นำส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่มองว่าไร้ประโยชน์มาใช้อีกครั้ง โดย APAC ระบุว่า ช่วงปี 2019-ไตรมาสแรกปี 2022 พบว่าค่าเฉลี่ยของแบรนด์ที่เคลมว่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มนี้ผลิตจาก “ของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร” มีเพิ่มขึ้นถึง 48% อาทิ “Nes tisane” ชาจากกากเมล็ดกาแฟที่เหลือจากกระบวนการทำกาแฟ “แยมเปลือกกล้วย” ผลิตจากเปลือกกล้วยที่เหลือจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ “Regrained” Snack Bar จากกากธัญพืชจากกระบวนการผลิตเบียร์ “Upcycled Fruit Protein Powders” ในประเทศแคนาดาที่เปลี่ยนผลไม้ตกเกรดมาเป็นผงโปรตีน และ “Future 50 Foods Cookbook” จาก Knorr Germany ตำราอาหารที่มุ่งเน้นเมนูที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เพื่อส่งเสริมให้คนทานอย่างรักษาสมดุลความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น (3)
สำหรับประเทศไทย มีปริมาณขยะมูลฝอยกว่า 26.77 ล้านตัน ซึ่งในปริมาณนี้มีขยะอาหารมากถึง 64% โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอย 9,000 ตัน/วัน ซึ่งในจำนวนนี้มีขยะอาหารมากถึง 50% (4) ในฐานะผู้บริโภคเราสามารถช่วยลดขยะอาหารเหล่านี้ได้อย่างไร?
ในมุมของนักโภชนาการอาหาร อาหารเหลือใช้แบ่งได้ 2 รูปแบบ แบบแรกคือ อาหารเหลือจากการรับประทาน หรืออาหารส่วนเกิน และแบบที่สองคือ อาหารเหลือจากกระบวนการผลิตอาหารที่นำมาแปรรูป เช่น หนังปลาแซลมอน หรือแคบหมู การนำอาหารเหลือแบบแรกมาแปรรูปเพื่อจำหน่ายนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากผิดกฎหมาย ทำได้เฉพาะการจำหน่ายจ่ายแจกหรือบริจาค ในลักษณะคลังอาหาร หรือ food bank แต่อาหารเหลือในรูปแบบที่สอง สำหรับประเทศไทยมีการผลิตและแปรรูปอาหารเหลือใช้จากกระบวนการผลิตอาหารอยู่แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ปลา และผักผลไม้ ที่ผลิตสินค้าหลายเกรด และหลายรูปแบบจากส่วนต่าง ๆ เพื่อใช้วัตถุดิบทุกส่วนอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด และเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด โดยตั้งแต่ปี 2564 ทางรัฐบาลได้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) (5)
โมเดลเศรษฐกิจ BCG นี้ ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลนี้ ประกอบด้วย 1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2) บริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน 3) ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ 4) สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ 5) สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (5)
ผู้บริโภคทุกคนในภาคครัวเรือนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและกระบวนการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยการลดปริมาณขยะอาหารได้เช่นกัน โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้า และพฤติกรรมการรับประทาน ได้แก่ 1) จัดทำ Shopping List อาหารสดรายเดือนหรือรายสัปดาห์ เพื่อวางแผนการซื้ออาหารสดสำหรับการบริโภคภายในครัวเรือน งดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงเข้าใจความแตกต่างระหว่างวันที่ควรบริโภคก่อน กับวันที่สินค้าหมดอายุของวัตถุดิบนั้นแตกต่างกันอย่างไร และกินอาหารที่จะหมดอายุก่อนหรือซื้อมาก่อนตามลำดับ 2) วางแผนรายการอาหารที่ใช้วัตถุดิบประเภทเดียวกัน หรือใช้วัตถุดิบเหลือใช้ต่อจากรายการอาหารอื่น ๆ รวมถึงการสร้างสรรค์รายการอาหารใหม่ ๆ จากวัตถุดิบหรืออาหารเหลือใช้ 3) ผัก ผลไม้บางประเภทไม่มีคำจำเป็นต้องปอกเปลือกก่อนรับประทาน หรือนำไปปรุงอาหาร หากเราล้างให้สะอาดตามขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว เพื่อลดปริมาณขยะสดในครัวเรือน และ 4) การเลือกซื้อวัตถุดิบตามฤดูกาลเพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าล้นตลาด เกิดเป็นอาหารเหลือ และช่วยเราประหยัดค่าอาหารสดได้ด้วย
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กหรือ SME จำนวนกว่า 90% ของอุตสาหกรรมผลิตอาหารนั้น ยังขาดกระบวนการแปรรูปเพื่อลดส่วนเหลือทิ้งและลดปริมาณการสูญเสียระหว่างการแปรรูปได้ไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน องค์ความรู้ ซึ่งในตอนนี้ทางภาคประชาชน เอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ก็หันมาให้ความสนใจกับกลุ่ม SME นี้ เพื่อนำเอาสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตอาหารถูกนำมาใช้งานอย่างคุ้มค่า ด้วยกระบวนการแปรรูปที่นำสารอาหารจากส่วนเหลือที่มาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป รวมถึงการสร้างความตระหนัก เสริมสร้างศักยภาพ และองค์ความรู้ในการลดการสูญเสียอาหารในขั้นตอนต่าง ๆ
ขยะอาหารหรือขยะเหลือใช้จากภาคครัวเรือนและภาคการผลิตขนาดกลางและเล็ก แม้เราจะมองว่าเพียงน้อยนิดแต่เมื่อมองในภาพรวมขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเผาผลาญทรัพยากรอาหารเป็นจำนวนมาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ ของเราในภาคครัวเรือน รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้จึงมีส่วนช่วยลดการสูญเสียอาหารและปริมาณขยะอาหาร (FLW : food loss and waste) รวมถึงช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
1. ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของความยั่งยืน “อัพไซเคิล” (Upcycle) ในอุตสาหกรรมอาหาร จาก Food ingredients – Fi Asia Page
2. Sustainable Food คืออะไร? ทำไมเราต้องสนใจ https://blog.cariber.co/post/sustainable-food
3. Food & Beverage Trends 2023
file:///F:/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1/IN/Food%20&%20Beverage%20Trends%202023/Food%20&%20Beverage%20Trends%202023.pdf
4. มลพิษจากอาหารเหลือ
https://www.posttoday.com/lifestyle/464509
5. นายกฯ ดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย เพิ่ม GDP อีก 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปี
เรียบเรียงบทความ โดย คุณกณิศอันน์ มโนพิโมกษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |