การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและลดโอกาสการเกิดภาวะเอ็นกล้ามเนื้อข้อศอกอักเสบ
16/11/2022
ม.มหิดล พัฒนานวัตกรรม “น้ำยาทำละลายโปรตีนโปรลามีนส์” ใช้ทดสอบเพื่อหาข้อบ่งชี้โรคภูมิแพ้กลูเตนในแป้งข้าวสาลี
16/11/2022

ก้าวสำคัญของดนตรีคลาสสิกไทย … ที่กระหึ่มในเทศกาลดนตรีระดับโลก

เผยแพร่: 

“ดนตรี คือวัฒนธรรมที่ไหลผ่านกาลเวลา เป็นภาษาที่ศิลปินผู้สร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็สามารถสื่อความหมายที่ต้องการผ่านบทเพลง ให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยง เข้าใจและค้นหาความหมายผ่านดนตรี”

ดนตรีในโลกนี้มีมากมายหลายประเภท แต่หนึ่งในดนตรีที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีการพัฒนาและปรับไปตามความนิยมของยุคสมัย นั่นคือ “ดนตรีคลาสสิก” หรือ Classical Music ที่มีเป็นลักษณะดุริยางค์ตะวันตก มีเครื่องดนตรีจำเพาะ อาทิ พวกเครื่องสาย (Strings) เครื่องลมไม้ (Woodwind) เครื่องลมทองเหลือง (Brass) เครื่องกระทบ (Percussion) และอื่น ๆ อีกมากมายตามนวัตกรรมและความนิยมของยุคสมัย และเมื่อเล่นกันเป็นวงออร์เคสตรา (Orchestra) จะมีคอนดักเตอร์เป็นผู้ควบคุมวง มีภาษาและระบบการประพันธ์ที่แตกต่างจากเพลง Folk Music, เพลง Pop หรือเพลงร่วมสมัยอื่น ๆ (1)

เทศกาลดนตรีคลาสสิก มีการจัดอย่างต่อเนื่องทุกปีทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา อาทิ เทศกาลดนตรี Aspen ที่โคโลราโด, เทศกาลดนตรี Tanglewood ที่แมสซาชูเสต โดยแต่ละเทศกาลมีความสำคัญ และความยาวนานที่แตกต่างกัน หนึ่งในเทศกาลดนตรีคลาสสิกของยุโรปที่ยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 1953 คือ งานเทศกาลดนตรีลูบลิยานา ที่เมืองลูบลิยานา เมืองหลวงของสาธารณรัฐสโลวีเนีย ล่าสุด เทศกาลดนตรีลูบลิยานา ครั้งที่ 70 (70th FESTIVAL LJUBLJANA) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการแสดงหลายหลายทั้งการแสดงบัลเลต์ ละครเพลง ละครเวที โอเปร่า คอนเสิร์ตออร์เคสตร้า Masterclasses และ Workshop สำหรับเด็กและวัยรุ่น (2) มีศิลปินมากกว่า 4,000 คนจากกว่า 40 ประเทศ อาทิ Daniel Barenboim, Lang Lang วงออร์เคสตราระดับโลกอย่าง Royal Philharmonic Orchestra, West-Eastern Divan Orchestra, Pittsburgh Symphony Orchestra และ Vienna Philharmonic Orchestra (4) มาร่วมงาน ดึงดูดผู้ชมจากทั่วโลกให้มาร่วมในงานนี้กว่า 60,000 คน (3) โดยในปีนี้วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) หรือ Thailand Phil โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวงออร์เคสตราของไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถเทียบเท่าวงออร์เคสตราระดับโลก โดยที่ผ่านมาวง Thailand Phil และผู้ที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างหนักและยาวนาน เพื่อสร้าง Profile การแสดงของวงให้เป็นที่ยอมรับถึงความสามารถ และทำให้วง Thailand Phil เป็นหนึ่งในวง Highlight ที่ได้ร่วมแสดงใน Main Concert Hall ที่ Cankar Hall Conference Center (Cankarjev dom) ซึ่งการแสดงในครั้งนี้สร้างความน่าเชื่อถือในแวดวงดนตรีคลาสสิกให้กับวง Thailand Phil และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอย่างมาก เพราะเป็นบทพิสูจน์ถึงความสามารถ ความพยายามในการพัฒนาตัวเอง และผลักดันให้วง Thailand Phil ก้าวไปสู่ World Stage ตามวิสัยทัศน์ของวง Thailand Phil และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในการเดินทางครั้งนี้ ถือเป็นทัวร์การแสดงของ วง Thailand Phil ที่ได้มีโอกาสจัดการแสดงในยุโรปในอีก 2 ประเทศ ได้แก่ Italian Cultural Institute เมืองดูดาเปสต์ ประเทศฮังการี สถาบันที่ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมผ่านการจัดกิจกรรมทางด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนของความคิด ทั้งทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ (3) ซึ่งประเทศฮังการีถือเป็นแหล่งของดนตรีที่มีความสำคัญยุคหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 20 มีนักดนตรีชื่อดังมากมายที่เป็นชาวฮังการี อาทิ ฟรานซ์ ลิซต์ นักเปียโนชื่อดัง และ โซลตาน โคดาย คีตกวีและนักมานุษยวิทยาดนตรี และจัดการแสดงที่ National Forum of Music – NFM (Narodowe Forum Muzyki) ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมืองวรอตซวาฟ (Wrocław) สาธารณรัฐโปแลนด์ เป็นหนึ่งในหอแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในโปแลนด์

ประสบการณ์อันสำคัญของวง Thailand Phil และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากการได้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลดนตรีระดับโลกเป็นครั้งแรกของวงออร์เคสตราของประเทศไทยแล้ว คือ การได้รับการยอมรับจากผู้ชมด้วยการ Standing Overcome หรือการยืนปรบมือของผู้ชมทั้งหอของการแสดงทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับการแสดงของชาวเอเชียกับดนตรีคลาสสิกในถิ่นดนตรีคลาสสิกเช่นนี้ การปรับตัวของนักดนตรีกับหอการแสดงที่แตกต่างกัน ในแต่ละประเทศรูปแบบของหอการแสดงมีวัตถุประสงค์ คุณสมบัติและคุณลักษณะที่เอื้อต่อการแสดงดนตรีแตกต่างกัน นักดนตรีจะต้องมีการปรับตัวและตั้งใจกับการแสดงอย่างมาก อาทิ National Forum of Music ที่โปแลนด์ เป็นหนึ่งในหอแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในโปแลนด์ สามารถจุผู้ชมได้ 1,800 ที่นั่ง ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนองทั้งโสตสัมผัสการรับฟังและการมองเห็น ห้องดนตรีทุกห้องได้รับการออกแบบด้วยระบบเสียงที่ล้ำสมัย มีการแยกออกจากส่วนอื่น ๆ ของอาคาร เพื่อป้องกันเสียงและการสั่นสะเทือนจากภายนอกด้วยมาตรฐานของอะคูสติกระดับสูงสุด จะไม่มีเสียงอื่นใดนอกจากเสียงเพลงในระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตที่นี่ เป็นต้น (3)

การเลือกนำเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียงในการแสดง โดยวงเลือกเพลง “ลาวดวงเดือน” มาเป็นหนึ่งในเพลงอังคอร์ (encore) หรือเพลงแถมตอนท้ายในตอนท้ายของการแสดง และเพลง “Phenomenon” ที่ประพันธ์โดย อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการวง เมื่อปี 2003 ซึ่งได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านดนตรีคลาสสิกระหว่างประเทศไทยและทั้ง 3 ประเทศซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย เนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็นความสามารถทางด้านดนตรีคลาสสิกของชาวไทย จึงถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมกันในแง่ของการพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีอาชีพ ซึ่งมีแตกต่างจากการเทียบกันด้านความเจริญของเศรษฐกิจ และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก็มีมาตรฐานด้านดนตรีคลาสสิคเทียบเท่าต่างชาติ

และประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดจากการร่วมแสดงคอนเสิร์ตทั้ง 3 ประเทศในครั้งนี้คือ การสะท้อนให้เห็นถึงสถาบันที่เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาด้านดุริยางคศาสตร์ ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เราสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงดนตรีในระดับโลกได้ สะท้อนถึงความเป็น Excellence และเป็น Wisdom of the Land อย่างแท้จริงทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะดูแลสุขภาพทั้งกายและจิตใจให้กับคนไทย และในส่วนของภาครัฐเองก็สามารถใช้โอกาสนี้ ในการต่อยอดสร้าง Soft Power สร้างวัฒนธรรม สร้างคุณค่าของดนตรีคลาสสิกทางสังคมต่อไป และต่อจากนี้ ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จะเริ่มประชาสัมพันธ์การแสดงใน Season 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป

สำหรับการแสดงของวง Thailand Phil เปิดฤดูกาล 2022/23 ในเดือนพฤศจิกายนพบกับ Ecstatic Experiences โดยวง Boston Brass ที่มีชื่อเสียงระดับโลก, Alexander Kobrin นักเปียโนระดับโลก และเดือนธันวาคม คอนเสิร์ต Distant Worlds: Music from Final Fantasy Coral, คอนเสิร์ต Christmas with the Thailand Phil และเดือนมกราคม 2566 พบกับ Fantastic Festivals และ Thailand International Jazz Conference 2023 (5) นอกจากนี้ ในปี 2566 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ยังมีโครงการ Story Book หนังสือนิทานเล่มแรกที่จะมีดนตรีประกอบที่ประพันธ์ขึ้นมาใหม่และบรรเลงโดยวง Thailand Phil ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวงออเคสตร้า เพื่อปลูกฝังความรู้ด้านดนตรีคลาสสิกให้กับกลุ่มเด็กปฐมวัย คอนเสิร์ตเพลงป๊อปที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดโครงการ Side by Side แบบเพลงละคร และนิทาน เนื่องจากในปีนี้เราได้รับการตอบรับจากผู้ชมและผู้สมัครเข้ามาออดิชั่นเป็นอย่างดี

การแสดงคอนเสิร์ตทั้ง 3 ประเทศของวง Thailand Phil นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการดนตรีคลาสสิกของไทย และเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญของความทุ่มเทและความรักในดนตรีคลาสสิกที่เป็นแรงผลักดันให้วง Thailand Phil และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวไประดับโลก เพราะดนตรีมีความหมายในตัวเอง ไม่ว่าใครก็เข้าใจภาษาของดนตรี

โดย อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง

1.บทสนทนาว่าด้วยดนตรีและศิลปะ ระหว่างสองศิลปิน
https://www.gqthailand.com/culture/article/music-in-the-classical-period

2. JUBILEE 70TH LJUBLJANA FESTIVAL
https://ljubljanafestival.si/en/press/jubilee-70th-ljubljana-festival/

3. Facebook Fan Page: Thailand Philharmonic Orchestra
https://www.facebook.com/ThailandPhil/

4. Thailand Phil – European Tour 2022 ครั้งแรกของวงคลาสสิกสัญชาติไทย – ThailandPhil เยือนเทศกาลดนตรีระดับโลก – ลูบลิยานา ครั้งที่ 70
https://mgronline.com/entertainment/detail/9650000081403

5. https://www.thailandphil.com/conductors/

ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook: Thailand Philharmonic Orchestra


เรียบเรียงบทความโดย กณิศอันน์ มโนพิโมกษ์

ให้คะแนน
PR
PR