เผยแพร่:
เผยแพร่:
“ลำไส้แปรปรวน” โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน ไม่ร้ายแรงแต่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน ด้วยปัจจัยรอบด้านของคนวัยทำงานในปัจจุบันทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็น “โรคลำไส้แปรปรวน”
ทั้งพฤติกรรมการทานที่ไม่ถูกวิธี เช่นทานอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ทานผัก ผลไม้ ไม่มีเวลาทานอาหารเช้า หรือการดื่มน้ำน้อยเกินไป การมีพฤติกรรมเนื่อยนิ่ง หรือไม่ออกกำลังกาย รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะเครียดจากงานหรือเรื่องส่วนตัว รวมถึงบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลำไส้แปรปรวน (1)
โรคลำไส้แปรปรวน หรือ Irritable Bowel Syndrome (IBS) เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของลำไส้ใหญ่ที่ผิดปกติ ที่ทำให้เกิดาการปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป คือ อาจถ่ายบ่อย หรือลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนไป โรคนี้มักเรื้อรัง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิต (2) เพราะผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง ร่วมกับอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือในบางรายอาจมีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูกได้
หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยบรรเทาอาการช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการลำไส้แปรปรวนคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร นายฐนิต วินิจจะกูล ผู้ช่วยอาจารย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตสายสั้น ๆ ชนิดที่เรียกว่า FODMAPs (Fermentable Oligo-, Di-and Monosaccharides and Polyols) มากเกินไป อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวน เนื่องจากระบบย่อยอาหารของผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวนมักดูดซึม FODMAPs ได้ไม่ดี ทำให้เกิดปฏิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้อาการของลำไส้แปรปรวนมีมากขึ้น
กลุ่มอาหารที่มี FODMAPs สูง ประกอบด้วย
• กลุ่มผัก: หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี กะหล่ำปลี กระเทียม หัวหอม หอมแดง (เป็นแหล่งของน้ำตาลสายสั้น ๆ) เห็ด ดอกกะหล่ำ อโวคาโด (เป็นแหล่งของน้ำตาลแอลกอฮอล์)
• กลุ่มผลไม้: แอปเปิ้ล สาลี่ มะม่วง แตงโม ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้เข้มข้น (เป็นแหล่งของน้ำตาลฟรุกโตส) เชอร์รี่ ลองกอง ลิ้นจี่ (เป็นแหล่งของน้ำตาลแอลกอฮอล์)
• กลุ่มข้าวแป้งและถั่ว: แป้งสาลี ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลี (ที่มีกลูเตน) ถั่วแดง
• กลุ่มสารให้ความหวาน: น้ำผึ้ง (เป็นแหล่งของน้ำตาลฟรุกโตส) น้ำตาลแอลกอฮอล์ (เช่นไซลิทอล ซอร์บิทอล)
• กลุ่มนม: นมวัว นมแพะ (เป็นแหล่งของน้ำตาลแลกโตส)
นายฐนิต วินิจจะกูล แนะนำว่า ผู้ที่มีอาการของโรคลำไส้แปรปรวน อาจทดลองงดการบริโภคอาหาร FODMAPs สูง เป็นระยะเวลา 6 – 8 สัปดาห์ ในความดูแลของนักกำหนดอาหาร เพื่อดูว่าอาการทางระบบทางเดินอาหารลดลงหรือไม่ จากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มกลับมาบริโภคอาหาร FODMAPs สูง (ข้างต้น) ทีละชนิดในปริมาณน้อย ๆ เพื่อประเมินปริมาณที่สามารถบริโภคได้โดยไม่มีอาการข้างเคียง ซึ่งจะทำให้บริโภคอาหารได้หลากหลายขึ้น โดยที่ผู้ป่วยยังสามารถคุมอาการของโรคได้ โดยในระหว่างช่วงที่งดบริโภคอาหาร FODMAPs สูง สามารถเลือกบริโภคอาหารอื่น ๆ ทดแทนได้ดังนี้
• กลุ่มผัก : หน่อไม้ ผักกวางตุ้ง แครอท เซลเลอรี่ พริกหวาน ข้าวโพด มะเขือม่วง ไช้เท้า ถั่วฝักยาว ฟักทอง กุยช่าย มะเขือเทศ และผักกาดขาว
• กลุ่มผลไม้ : กล้วย มะเฟือง ส้ม เลมอน ทุเรียน องุ่น แตงไทย กีวี มะนาว แคนตาลูป เสาวรส และ มะละกอ
• กลุ่มข้าวแป้งและถั่ว : ข้าวสวย ข้าวกล้อง ควีนัว และ ผลิตภัณฑ์แป้งที่ปราศจากกลูเตน เช่น แป้งข้าว กลุ่มถั่วควรบริโภคในปริมาณน้อย (อัลมอนด์ ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง)
• กลุ่มสารให้ความหวาน : น้ำตาลทราย หญ้าหวาน ซูคราโลส
• กลุ่มผลิตภัณฑ์นม : นมและผลิตภัณฑ์นมที่ปราศจากน้ำตาลแลกโตส ชีสชนิดแข็ง เนย
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานในช่วงที่มีอาการลำไส้แปรปรวนแล้ว ควรจัดสรรเวลาสำหรับขยับร่างกาย เพื่อลดความเครียดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และไม่ควรอั้นหากปวดอุจจาระเพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
อ้างอิง
1. ลำไส้แปรปรวน…โรคยอดฮิตชีวิตคนทำงาน
2. อย่าให้ลำไส้แปรปรวน รบกวนชีวิตคุณ
เรียบเรียงบทความโดย กณิศอันน์ มโนพิโมกษ์
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |