ม.มหิดล จัดงานมหิดลวิชาการ เปิดบ้านมหิดล ประจำปี 2565 “WE’RE BACK AND WHAT’S NEXT” มอบสิ่งดี พร้อมเผชิญความท้าทายในอนาคต
10/11/2022
“โภชนาการกับผู้สูงอายุ”
20/09/2024

รองช้ำ…ช้ำแบบไม่ต้องลอง

เผยแพร่: 

“เท้า” เป็นอวัยวะทำงานหนักที่สุดในแต่ละวัน เพราะคนเราใช้เท้าทุกวันในการนั่ง เดิน ยืน วิ่ง กระโดด รวมถึงการแบกรับน้ำหนักของร่างกาย หากดูจากลักษณะภายนอกอาจเห็นว่าเท้าเป็นเพียงอวัยวะเล็ก ๆ แต่ที่จริงแล้ว เท้าประกอบไปด้วยกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ประกอบไปด้วยกระดูกและกล้ามเนื้อชิ้นเล็ก ๆ มากมาย หลายคนมักละเลยการดูแลเท้าของตนเอง ทำให้มีภาวะการผิดปกติของเท้าเกิดขึ้น โดยโรครองช้ำสามารถพบได้ประมาณ 11% -15%ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บส้นเท้า พังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar fascia) มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม โดยยอดของสามเหลี่ยมจะยึดติดกับกระดูกส้นเท้า (calcaneus) ส่วนฐานของสามเหลี่ยมจะแยกออกเป็น 5 แฉก ไปยึดติดกับนิ้วเท้าทั้งห้านิ้ว โดยพังผืดใต้ฝ่าเท้าจะมีความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ในการรองรับแรงกระแทกบริเวณฝ่าเท้า (shock absorption) รองรับอุ้งเท้าในแนวตามยาว (longitudinal arch) รองรับน้ำหนักตัว ช่วยพยุงโครงสร้างเท้าให้เหมาะสม และยังทำหน้าที่ปกป้องโครงสร้างที่อยู่ลึกต่อจากพังผืด นอกจากนี้บริเวณพังผืดยังมีเส้นประสาททำให้สามารถรับรู้ความรู้สึกและความเจ็บปวดได้ โดยในบางครั้งหลายท่านมีอาการเจ็บฝ่าเท้าโดยไม่ทราบสาเหตุ เจ็บที่ส้นเท้าจนลามไปทั่วฝ่าเท้า คิดว่าปล่อยทิ้งไว้เดี๋ยวก็หายเอง หรือกินยาแก้ปวดแล้วอาการน่าจะดีขึ้น แต่ว่ายิ่งนานไป กลับยิ่งทำให้เดินไม่สะดวก ท่านอาจจะกำลังประสบปัญหาภาวะ พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “รองช้ำ” ซึ่งมีคนอีกจำนวนไม่น้อยเลย ไม่ทราบว่าโรครองช้ำนี้ คือโรคอะไรกันแน่ และที่แย่ไปกว่านั้น อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังเป็นโรคนี้อยู่ แล้วปล่อยให้ส้นเท้าของตัวเองมีอาการเรื้อรัง จนสุดท้ายก็กลายเป็นรบกวนความสุขในการใช้ชีวิต

“รองช้ำ”เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า เนื่องจากมีการฉีกขาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่บริเวณส้นเท้า ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดรองช้ำอย่างแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากความเสื่อมของพังผืดฝ่าเท้า การใช้งานที่หนักและติดต่อกันมานาน หรือการที่ฝ่าเท้าได้รับแรงกระแทกมากเกินไป โดยขณะที่เรายืนหรือเดิน น้ำหนักตัวจะตกลงบนฝ่าเท้า ทำให้อุ้งเท้าแบนราบกับพื้นมากขึ้น ซึ่งเหมือนเป็นการเพิ่มภาระให้ผังพืดและเมื่อถึงจุดที่ผังพืดรับภาระไม่ไหวมันจึงเกิดแรงที่ตกลงมายังฝ่าเท้า จะกระจายไปยังบริเวณหน้าเท้าและส้นเท้า ส่งผลให้พังผืดมีความตึงตัวมากขึ้น แต่หากแรงตึงตัวที่เกิดขึ้นมีมากเกินกว่าที่พังผืดจะรับได้ จะทำให้พังผืดได้รับความเสียหาย อาการแสดงของคนไข้ คือ จะมีอาการเจ็บจะเป็นแบบปวดจี๊ดขึ้นมา ความเจ็บปวดจะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย และจะกลับมาปวดอีก อาการปวดจะรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอนหรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน อาจมีอาการปวดมากขึ้นในช่วงระหว่างวัน หรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักยืนหรือเดินเป็นเวลานานและเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น ซึ่งอาการของโรคไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่การบาดเจ็บจะค่อยๆสะสมทีละเล็กทีละน้อยจนเกิดการอักเสบ ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้ที่มักเกิดอาการรองช้ำจะอยู่ที่ระหว่าง 40-60 ปี กลุ่มที่สามารถเกิดโรครองช้ำ ได้แก่ กีฬาที่ลงน้ำหนักที่เท้าเยอะ ๆ 

จากรายงานพบว่า นักวิ่งสมัครเล่น (Recreational) มีอาการของโรครองช้ำ 5% ถึง 10% เนื่องจากมีการยืดและหดตัวของพังผืดฝ่าเท้าขณะวิ่ง ร่วมกับการเกิดแรงกระทำต่อพังผืดฝ่าเท้าตลอดเวลาของการวิ่ง ผู้สูงอายุ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ทำให้พังผืดฝ่าเท้ารับแรงกระแทกมากขึ้น ผู้ที่มีอาชีพที่จำเป็นต้องยืน หรือเดินมาก ๆ ทำให้พังผืดฝ่าเท้าตึงแข็ง ผู้ที่มีอุ้งเท้าสูง หรือแบนผิดปกติ ผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูง รองเท้าพื้นแข็งหรือพื้นบางอยู่เป็นประจำ ผู้ที่มีโครงสร้างเท้าแบน หรือส่วนโค้งของเท้ามากผิดปกติ ทำให้รูปแบบการเดินผิดปกติ และผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากไขมันส้นเท้าบางกว่า เอ็น กล้ามเนื้อน่อง และฝ่าเท้า ไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย โดยวิธีการดูแลตนเองในเบื้องต้น เมื่อเกิดภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ อันดับแรกควรพักการลงน้ำหนักที่บริเวณฝ่าเท้า หยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เท้านาน ๆ หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาบนพื้นแข็งหรือสวมรองเท้าส้นนิ่มขณะออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพราะเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้รักษาหายช้า หากยังอยู่ในระยะอักเสบ ควรประคบเย็นประมาณ 15 – 20 นาที บริเวณส้นเท้า หลังจากนั้นเมื่อพ้นระยะอักเสบแล้ว สามารถยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าเพื่อให้พังผืดเกิดความยืดหยุ่น สามารถใช้ลูกกอล์ฟ หรือลูกเทนนิส เหยียบคลึงบริเวณส้นเท้าที่พบจุดเจ็บตลอดแนวยาวของพังผืดฝ่าเท้า เพื่อลดความตึงตัวของพังผืดฝ่าเท้า หากอาการเจ็บยังไม่ทุเลา ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยวิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดนั้น อาจมีการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น อัลตราซาวด์ เลเซอร์ หรือช็อกเวฟ เพื่อช่วยเร่งกระบวนการฟื้นตัวในพังผืดฝ่าเท้า และให้ผู้ป่วยออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อน่อง การเพิ่มความแข็งของกล้ามเนื้อมัดเล็กภายในฝ่าเท้า โดยท่ายืดกล้ามเนื้อน่องกับท่ายืดพังผืดฝ่าเท้า สามารถทำเองที่บ้านได้ดังนี้

ท่ายืดกล้ามเนื้อน่อง: ยืนตรง โดยนำขาที่ต้องการยืดไปทางด้านหลัง ย่อเข่าด้านหน้าไปจนรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อน่องของขาที่อยู่ด้านหลัง ส้นเท้าแนบติดกับพื้น ค้างไว้ 10 วินาที 6 ครั้ง

ท่ายืดพังผืดฝ่าเท้า: นำมือข้างหนึ่งจับบริเวณนิ้วโป้งเท้า และอีกข้างหนึ่งจับบริเวณส้นเท้าค่อนมาทางด้านใน ออกแรงมือดันนิ้วโป้งในทิศทางขึ้นด้านบน จนมืออีกข้างที่อยู่บริเวณส้นเท้ารู้สึกถึงความตึงของแนวผังผืดใต้ฝ่าเท้า ยืดค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำจำนวน 6 ครั้ง

ท่าลดความตึงตัวพังผืดฝ่าเท้า: นำลูกเทนนิส หรือลูกกอล์ฟคลึงตามแนวยาวของพังผืดฝ่าเท้า จากส้นเท้าไปถึงบริเวณฐานนิ้วเท้า ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

ภาวะพังผืดฝ่าเท้าอักเสบนั้น มิได้จัดเป็นกลุ่มโรคร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้า ทำให้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ และถ้าปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การเกิดอาการเรื้อรังจนเกิดเป็นหินปูนบริเวณส้นเท้า ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาให้หายขาดเป็นไปได้ยาก และใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนานมากขึ้น อีกทั้ง อาการเจ็บบริเวณส้นเท้าที่เกิดขึ้น ยังสามารถส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และมีโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้ออื่น ๆ ตามมาจนเกิดการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การทำกิจวัตรประจำวัน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในท้ายที่สุด


เรียบเรียงบทความโดย พรทิพา วงษ์วรรณ์

ให้คะแนน
PR
PR