“แม่น้ำท่าจีน” มีที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณตอนกลางของ “ขวานทอง” แผ่นดินไทย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยมีชื่อมาจากที่เคยเป็นแหล่งชุมชนของชาวจีนท่าฉลอมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และมีอีกหลายชื่อที่เรียกแตกต่างกันไปตามชื่อของพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน
“จังหวัดนครปฐม” เป็นจังหวัดหนึ่งที่มี “แม่น้ำท่าจีน” เปรียบเหมือน “สายโลหิต” ของจังหวัด โดยชาวนครปฐมเรียกแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่านว่า “แม่น้ำนครชัยศรี” ด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจ และการเติบโตทางอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อแม่น้ำท่าจีน ทำให้ทุกวันนี้ต้องตกอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงจากปัญหาคุณภาพน้ำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงดี โตอิ้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้วที่ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมกับชุมชนสร้าง “เครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง” ที่เป็นการวิจัยที่ยึดเอาลุ่มน้ำเป็นหน่วยในการวิจัย หรือการวิจัยเชิงพื้นที่ บูรณาการศาสตร์ที่หลากหลาย พัฒนาระบบการวิจัยที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมจังหวัดที่แม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน รวมทั้งจังหวัดที่อยู่ในลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ
ซึ่งต่อมาได้มีการต่อยอดขยายผล จนสามารถเปิดพื้นที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน จนเกิดเครือข่ายที่แน่นแฟ้น อาทิ “ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน” และ “เครือข่ายเรารักท่าจีน” ร่วมขับเคลื่อนชุมชนในมิติต่างๆ อีกทั้งทีมงานวิจัยได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนในมิติต่างๆ ด้วย
นอกจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงดี โตอิ้ม ได้มีส่วนร่วมในชุดโครงการพัฒนาข้อมูลและระบบสารสนเทศแล้ว ยังได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพระบบการวิจัยให้สามารถตอบสนองปัญหาความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้ร่วมเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนในพื้นที่
นอกจากนี้ ได้ร่วมพัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนด้วยศาสตร์แห่งการบูรณาการและนวัตกรรมการจัดการเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพชีวิตและความสันติสุขของสังคมต่อไปอีกด้วย
จนเมื่อโลกต้องประสบกับวิกฤติ COVID-19 จนทำให้ทุกสิ่งต้องหยุดชะงัก รวมถึงสภาวะแวดล้อมของชุมชนแม่น้ำท่าจีนต้องได้รับผลกระทบจากการขาดการดูแลที่ต่อเนื่องไปด้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงดี โตอิ้ม ได้ให้มุมมองถึงแนวทางการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนแม่น้ำท่าจีนอย่างยั่งยืนว่า การพัฒนากลไกที่เชื่อมโยง และผลักดันให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา วิเคราะห์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชน จะเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างความยั่งยืนทางด้านการจัดการทรัพยากรน้ำด้วย
นายวิรัช จำปานิล ประธานเครือข่ายส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมนครปฐม และประธานจิตอาสาพุทธมณฑล ผู้ขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เกษตรครัวเรือนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่ชาวชุมชนนครปฐมเรียกขานว่า “ลุงอ๊อดเกษตรครัวเรือน” เป็นแบบอย่างของการทำการเกษตรแบบพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
จากการทุ่มเทคิดค้นนวัตกรรมเกษตรชุมชนต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวชุมชนนครปฐม จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย อาทิ การปลูกพืชในครัวเรือนด้วยวัสดุที่เหลือทิ้ง และการออกแบบระบบการใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งตามครัวเรือนเพื่อการเกษตร ฯลฯ
“ลุงอ๊อด” เป็นแบบอย่างของชาวชุมชนนครปฐมผู้ไม่เคยละเลยในทุกสิ่งรอบตัวซึ่งจะสามารถนำมาแปรเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประหยัดทรัพยากรของแผ่นดินเกิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่เหลือทิ้งจากการซักผ้า ล้างจานชาม หรือการชำระล้างร่างกาย ฯลฯ
แทนที่จะปล่อยไหลทิ้งลงสู่แม่น้ำเพิ่มมลพิษ “ลุงอ๊อด” สามารถต่อท่อ PVC ที่ออกแบบไว้รองรับน้ำทิ้งให้ไหลตามท่อออกมารดโคนต้นไม้ที่ปลูกไว้ภายในบริเวณบ้านได้โดยตรง หรือจะให้น้ำทิ้งได้ผ่านถังพักที่เติมปุ๋ยชีวภาพแล้วค่อยปล่อยลงท่อสู่โคนต้นไม้ก็ย่อมได้ พบว่าทั้งสองวิธีทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงาม ออกดอกออกผลจนสามารถเก็บมาบริโภค และแบ่งปันสู่ชุมชนต่อไปได้อีกด้วย
จากการอุทิศตนตอบแทนคุณแผ่นดินเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชน และเผยแพร่นวัตกรรมเกษตรครัวเรือนที่ “ลุงอ๊อด” ได้คิดค้นขึ้นเองและใช้ได้ผลนี้ ยังสามารถขยายโอกาสสู่การสร้างอาชีพสร้างรายได้จากเกษตรครัวเรือนให้กับชุมชนชาวนครปฐมต่อไปได้อีกด้วย
ซึ่งปัญหาเร่งด่วนของชาวชุมชนนครปฐมที่กำลังเผชิญอย่างหนักในปัจจุบัน มีทั้งเรื่องปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำโดยไม่ได้ผ่านการบำบัดที่เหมาะสม และปัญหาการขาดแคลนน้ำ
เนื่องจากน้ำที่ชาวชุมชนนครปฐมใช้อยู่ทุกวันนี้ต้องสูบมาไกลจากแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดปัญหาน้ำประปาไหลอ่อน จึงได้มีการระดมแกนนำชุมชนจากทั้ง ๗ อำเภอของจังหวัดนครปฐมมาร่วมขับเคลื่อนภารกิจกู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญดังกล่าวด้วย
แม้จะมีข่าวดีแล้วว่า ได้มีการผ่านร่างประชาพิจารณ์ให้ชาวชุมชนนครปฐมจะได้มีน้ำใช้เอง ไม่ต้องสูบไกลจากจังหวัดอื่น โดยภายในปีพ.ศ.2566 อาจได้มีการติดตั้งโรงสูบและกรองน้ำ ณ บริเวณหน้าวัดสัมปทวน ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่ตำบลวัดแค อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ซึ่งในการนี้คาดว่า การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดนครปฐม จะสามารถทำการสูบและกรองน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมาใช้ภายในจังหวัดนครปฐม ได้ในปริมาตร 24,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในขณะที่ “ลุงอ๊อด” และแกนนำของชาวชุมชนนครปฐมได้ออกมาร่วมเตือนให้ชาวชุมชนฯ เฝ้าระวังถึงปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำท่าจีนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน สถานประกอบการ กิจกรรมการเกษตรต่างๆ ตลอดจนครัวเรือนที่พักอาศัย ฯลฯ
ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีนับจากนี้ไป จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับหากมีการจัดการสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ของจังหวัดนครปฐม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายในการลดการระบายน้ำเสียสู่แม่น้ำท่าจีน และคูคลองสาขาต่างๆ
ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงเพียงใด มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงพร้อมเดินหน้าทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล สร้าง “สังคมแห่งภูมิปัญญา” ยืนหยัดเคียงข้างชาวชุมชนนครปฐมตลอดไป โดยหวังให้องค์ความรู้และประสบการณ์ 2 ทศวรรษจากการจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกับ “เครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง” สามารถต่อยอดขยายผลสู่การบรรลุเป้าหมายภารกิจกู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม พลิกฟื้นคุณภาพชีวิตชาวชุมชนแม่น้ำท่าจีนครั้งสำคัญนี้ต่อไป
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม / ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์