วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จะถึงนี้ ตรงกับ “วันตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ซึ่งเป็นประเพณีที่ตกทอดสู่ประชากรเชื้อสายจีนที่กระจายอยู่ทั่วโลก นอกจากหมู เป็ด ไก่ ปลา และอาหารทะเลต่างๆ ที่นิยมนำมาไหว้เจ้าเนื่องในวันตรุษจีนแล้ว ในวันที่ 7 นับจากวันขึ้นปีใหม่ ตามความเชื่อของชาวจีนบางท้องถิ่นโดยเฉพาะชาวแต้จิ๋ว ฮากกา (จีนแคะ) จะเป็นวันกินผัก 7 อย่าง ซึ่งเลือกชื่อผักที่มีความหมายเป็นมงคลในภาษาจีน เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตที่รุ่งเรือง มีโชคลาภ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และการคลัง และประธานกลุ่มวิจัยจีน-
ไทยศึกษา (Chinese – Thai Studies) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล (RILCA) ได้กล่าวถึงประเพณีเนื่องในวันตรุษจีนทั่วโลกว่า จัดขึ้นเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของผู้มีเชื้อสายจีน จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งการรับประทานผักในวันที่ 7 หลังวันตรุษจีนนั้น ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการปรับสมดุลของร่างกาย หลังจากการรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลา และอาหารทะเลต่างๆ แล้วควรรับประทานพืชผักในครอบครัว เพื่อเป็นการล้างพิษในร่างกาย
“จับฉ่าย” เมนูผักที่คนไทยรู้จักดี หมายถึง การต้มผักหลายชนิดรวมกันอย่างไม่เป็นสำรับ ซึ่งน่าจะมาจากการจัดงานเลี้ยง หรือเทศกาลต่างๆ แล้วยังมีผักจำนวนมากที่รับประทานไม่หมด จึงนำมาต้มรวมกันเพื่อเป็นการถนอมอาหาร เนื่องจากสมัยโบราณไม่มีตู้เย็น
ผัก 7 อย่างซึ่งนำมารับประทานเนื่องในวันที่ 7 นับจากวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตามชื่อของผักที่สื่อความหมายถึงความเป็นมงคลนั้น มีความแตกต่างกันตามความเชื่อของชาวจีนในแต่ละท้องถิ่น ผักบางชนิดใน 7 อย่าง ซึ่งนิยมนำมาทำ “จับฉ่าย” ได้แก่ “กะนั้มไฉ่” หรือ “ผักคะน้า” หมายถึง “ความเป็นหนึ่ง ยอดเยี่ยม ล้ำเลิศ” จากตัวอักษรซึ่งมาก่อนตัวอักษรอื่น, “คึ้งไฉ่” หรือ “ผักคึ่นช่าย” ที่หมายถึง “ความมุมานะ” และ “ขยันหมั่นเพียร”, “หัวไชเท้า” หมายถึง “ความสะอาดบริสุทธิ์” จากสีขาวของหัวไชเท้า แต่บางคนตีความว่า “ความเป็นใหญ่เป็นโต”, “ตั่วไฉ่” หรือ “ผักกาดเขียว” หมายถึง “การประสบความสำเร็จ” ฯลฯ
ที่ผ่านมา RILCA ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อการสืบสานมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยหวังให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของ “Language Diversity” หรือความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการสูญหาย ตามประกาศองค์การยูเนสโก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลรัตน์ โพธิ์ปิ่น อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง “เทศกาลกินผัก 7 อย่าง” เนื่องในวันตรุษจีนว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับประทานผักเพื่อสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลก ได้แนะนำว่า เพื่อสุขภาวะที่ดี แต่ละคนควรรับประทานผักให้ได้อย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 400 กรัมในแต่ละวัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้ชนิดใด ก่อนนำมารับประทานควรล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
จากงานวิจัยล่าสุดโดย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบว่า การล้างผักและผลไม้แม้เพียงใช้น้ำประปาแช่ผักไว้ประมาณ 10 นาที แล้วนำมาล้างผ่านน้ำไหล 2 นาที ก็เพียงพอที่จะลดการปนเปื้อนจากสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง ได้ถึงร้อยละ 60 – 70 ในขณะที่การใช้น้ำเปล่าผสมผงเบคกิ้งโซดา หรือน้ำเปล่าผสมน้ำส้มสายชู ลดได้ร้อยละ 30 – 40 และน้ำเปล่าผสมด่างทับทิม ลดได้ร้อยละ 20 – 30 ตามลำดับ
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากเปิดให้บริการประชาชน โดยศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม ในการตรวจสารตกค้างยาฆ่าแมลง และโลหะหนักในผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังให้บริการประชาชนด้วยชุดทดสอบสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างในผักและผลไม้ (กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และคาร์บอเนต) หรือ “MT Pest easy Test” ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมเด่นของคณะฯ ที่ใช้งานสะดวก ให้ผลตรวจวัดรวดเร็ว อ่านผลง่าย และวิเคราะห์ผลได้แม่นยำ เพียง 4 ขั้นตอนง่ายๆ
ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ mtinnottrex@mahidol.ac.th
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล / MUMT