ม.มหิดลภูมิใจ รับหน้าที่ “ด่านหน้า” นำวิชาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากชุมชนโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวงอว.
04/11/2022
ม.มหิดล ค้นพบสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชผักสวนครัว มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารในระดับหลอดทดลอง
07/11/2022
ม.มหิดลภูมิใจ รับหน้าที่ “ด่านหน้า” นำวิชาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากชุมชนโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวงอว.
04/11/2022
ม.มหิดล ค้นพบสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชผักสวนครัว มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารในระดับหลอดทดลอง
07/11/2022

ม.มหิดล ห่วงใยประชาชนเผชิญโรคอุบัติใหม่ เปิดคลินิกพิเศษแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้ทราบถึงสถิติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม จำนวนผู้ป่วยจำนวนผู้หายป่วย และการสูญเสีย ล้วนมีค่าต่อการเรียนรู้เพื่อนำไปเป็นประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า

ด้วยบทเรียนจากวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ได้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นนโยบายให้ทุกสถานพยาบาลใน

ประเทศไทย ต้องมีหน่วยบริการรักษาโรคติดเชื้อ เช่นเดียวกับที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โดยได้จัดตั้ง “คลินิกพิเศษอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ”  ขึ้นไว้ตั้งรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งลดอัตราการติดเชื้อ และการสูญเสีย ตลอดจนโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้ในอนาคต

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการเปิด “คลินิกพิเศษอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ” นั้น เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อสำหรับประชาชนในช่วงวิกฤติ COVID-19

ซึ่งเป็นการช่วยลดขั้นตอนที่ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน โดยสามารถเข้าพบแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อเพื่อปรึกษาอาการเบื้องต้น และนัดตรวจได้ภายในสัปดาห์เดียวกัน

นอกจากการตรวจพิเศษโรค COVID-19 ซึ่งเป็น “โรคติดเชื้อที่ติดต่อ” แล้ว ยังรับตรวจพิเศษ “โรคติดเชื้อที่ไม่ติดต่อ” ในผู้ป่วยที่ต้องการพบแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อเพื่อรับการดูแลอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรควัณโรค โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) ตลอดจนโรคติดเชื้อที่ไม่ติดต่อ อาทิ โรคที่เกิดจาก “ปรสิต” ที่อาศัยและแพร่พันธุ์ภายในร่างกาย อาทิพยาธิในสมอง ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย หากไม่ได้รับการตรวจ และรับยาเพื่อการกำจัดอย่างเหมาะสม และทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงโรคติดเชื้อ “เลปโตสไปโรซิส” หรือ “โรคฉี่หนู” ที่มักพบมากในช่วงหน้าฝน จากการสัมผัสกับน้ำท่วม

ที่มีปัสสาวะของหนู โดยผู้ป่วยมักแสดงอาการตาเหลือง และตัวเหลือง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยด่วน

ผู้ป่วยโรคติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถใช้สิทธิการรักษาตามนโยบาย “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ของรัฐ ที่ให้กลับไปใช้สิทธิเดิมได้ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิได้ทุกแห่ง

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ได้แสดงความห่วงใยประชาชน โดยแนะนำวิธีการสังเกตอาการของตัวเองว่ากำลังป่วยเป็นโรคติดเชื้ออยู่หรือไม่ หากพบความผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น สีของปัสสาวะที่เข้มขึ้นหรือสีของเสมหะที่เปลี่ยนไป ให้รีบมาพบแพทย์

จองคิวออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง พร้อมบริจาคเพื่อผู้ป่วยยากไร้ได้ทาง www.gj.mahidol.ac.th

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพและแบนเนอร์จาก ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล