ม.มหิดล จัดทำคู่มือ “พลเมืองช่างคิด: การสืบสอบเชิงปรัชญากับพลเมืองประชาธิปไตย” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ “อยู่อย่างเข้าใจและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”
03/11/2022ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมเส้นใยสับปะรดบำบัดน้ำเสียจากโรงงานช่วยโลกพ้นวิกฤติมลพิษ
03/11/2022ภาพของห้องสมุดในโลกที่จำกัดการใช้เสียง ที่มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ผู้คนก้มหน้าอยู่กับหนังสือกำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อในปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแทนที่ เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่
ซึ่งในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโลยีดิจิทัล “Digital Literacy” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการวางแผนให้ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจุดกำเนิดเพื่อการบ่มเพาะ “Digital Literacy” ให้กับนักศึกษา ภายหลังจากการปรับโฉมพื้นที่ภายในหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลครั้งใหญ่
ภายใต้โครงการ Mahidol Digital Convergence University ซึ่งสนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ภายในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดลในการใช้พื้นที่ของ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการบ่มเพาะ “Digital Literacy” ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ ทรัพยากรบุคคล สถานที่ และอุปกรณ์ และที่สำคัญเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนสามารถเข้าถึงได้
โดยจะได้จัดให้มีสตูดิโอ (studios) ที่พร้อมด้วยโสตทัศนูปกรณ์ที่จำเป็น ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้ฝึกสร้างสรรค์ “digital content” ทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิYouTube และ TikTok เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกโลกที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต มองว่า “ผู้สร้างคอนเทนต์” เป็นเหมือน “Influencer” ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม จึงควรมีการสื่อสารที่ดี พร้อมด้วยจิตสำนึกที่รับผิดชอบ
โดยในอนาคต กองกิจการนักศึกษา จะได้ร่วมกับ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านดังกล่าวให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงแผนการปรับโฉมหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ว่านอกจากเพื่อการบ่มเพาะ “Digital Literacy” และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังเตรียมปรับโฉมสู่การเป็น “ห้องสมุดดิจิทัลอัจฉริยะ” (Smart Digital Library) เพื่อการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดต่อไปอีกด้วย
ซึ่ง หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปรับโฉมเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย โดยมุ่งให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกัน
ภายใต้สิ่งแวดล้อมซึ่งแบ่งโซนตามความประสงค์ของผู้ใช้โดยจะจัดให้มีครบทั้งแบบ “ศึกษาเดี่ยว” ตามอัธยาศัย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ “บริการตัวเอง” และแบบ “ศึกษากลุ่ม” ที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้เสียงได้ตามความเหมาะสม เพื่อการประชุม หรือระดมความคิดเห็น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล วางแผนปรับโฉม หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็น “ห้องสมุดดิจิทัลอัจฉริยะ” (Smart Digital Library) โดยได้มีการทดลองใช้หุ่นยนต์จัดหนังสือในช่วงนอกเวลาทำการ เพื่อลดภาระของบุคลากรห้องสมุด
อาจารย์ ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้อยู่เบื้องหลังของการสร้างสรรค์ “Smart Library Robot” ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาของทีม “ว่าที่บัณฑิต” ผู้ออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเตรียมใช้ใน “ห้องสมุดดิจิทัลอัจฉริยะ” (Smart Digital Library) ต่อไป
โดยพัฒนาขึ้นจากหุ่นยนต์เคลื่อนที่ติดแขนกล ซึ่งได้รับการออกแบบให้แตกต่างกันตามการใช้งานที่หลากหลาย โดยที่ผ่านมาได้มีการนำไปใช้ในโรงพยาบาล และพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งการสร้างสรรค์ “Smart Library Robot” เพื่อการใช้งานใน “ห้องสมุดดิจิทัลอัจฉริยะ” (Smart Digital Library) ดังกล่าว เป็นผลงานโดย “ว่าที่บัณฑิต” ที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคภูมิใจ
นำโดย “บอล” วรากร สุขเกิด พร้อมด้วยสมาชิกของทีมได้แก่ “โทนี่” ณภัทร เสณีตันติกุล “เปรี้ยว” แพรพลอย นิ่มสมบุญ และ “นัท” วรัตถ์ ศิลปทวีวงศ์ โดยมี “ว่าที่มหาบัณฑิต” “ปิ้ม” นิรชร เอี่ยมสวรรค์ คอยเป็นพี่เลี้ยง
“บอล” วรากร สุขเกิด กล่าวในฐานะ “ว่าที่บัณฑิต” หัวหน้าทีมผู้พัฒนาหุ่นยนต์ “Smart Library Robot” ถึงจุดเด่นของนวัตกรรมดังกล่าวว่า อยู่ที่การออกแบบแขนจับ โดยทีมเลือกใช้วิธีการ “ดูด” ด้วยปั๊มลม ซึ่งได้ผ่านการทดสอบโดยเปรียบเทียบกับวิธีการจับขอบสันหนังสือ “ดึง” ลงมา และวิธีการใช้ “แม่เหล็ก” พบว่าวิธีการดูดด้วยปั๊มลมเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยสามารถทำให้หนังสือออกมาในระนาบที่เท่ากันง่ายต่อการหยิบจับ
นอกจากการเตรียมการนำเอา “Smart Library Robot” มาช่วยงานของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปในอนาคตแล้ว สิ่งใหม่ที่นับเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญของการเดินหน้าสู่การเป็น “ห้องสมุดดิจิทัล” อย่างเต็มตัว
คือ การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้อ่านที่เป็นนักศึกษา บุคลากรและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ระบบดิจิทัล ในรูปแบบของหนังสือ E-Book ที่สามารถยืม-คืนได้ผ่านระบบอัตโนมัติทางเว็บไซต์ https://www.bookdosepath.com และแอปพลิเคชัน “Bookdose PATH” ซึ่งเป็นบริการเพิ่มเติมที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องกังวลว่าจะลืมส่งคืนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เมื่อถึงวันกำหนด
นางสาวโสมรัศมิ์ พิบูลย์มณี บรรณารักษ์ (ผู้ชำนาญการพิเศษ) หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวแนะนำ “Bookdose PATH” ว่าเป็นช่องทางใหม่ของการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบ E-Book ภาษาไทย ที่จะทำให้นักศึกษาไม่ตกเทรนด์ โดยจะมี E-Book ใหม่ๆ มาคอยอัพเดทอยู่เสมอ และเข้าถึงง่าย ระบบเปิดโอกาสให้นักศึกษาบุคลากร และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหิดล “ยืม” ได้สูงสุด 3 เล่มต่อราย ภายใน 7 วัน และสามารถ “จองคิว” หรือ “ยืมต่อ” ผ่านระบบได้เหมือนหนังสือในชั้นปกติทั่วไป
หนังสือ E-Book ภาษาไทยเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” “Atomic Habits” “21 Lessons for the 21st Century” “IoT สถาปัตยกรรมการสื่อสาร : Internet of Things” “The Big Nine ยักษ์ 9 ตนอิทธิพลแห่ง AI” “คู่มือสอบ TOEIC” ฯลฯ
ในอนาคต หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมเปิดให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไป โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด และการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ที่จะสร้างความผูกพันไม่รู้ลืม
ติดตามบริการใหม่ๆ จาก หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.li.mahidol.ac.th พร้อมข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210