ม.มหิดล แนะผลิตเครื่องสำอางสมุนไพรปลอดภัย สนองนโยบาย BCG
02/11/2022
ม.มหิดล เปิดทาง “แพทย์” พิสูจน์ความเป็น “นวัตกร” คิดค้น “นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยวัดตำแหน่งผ่าตัดสำหรับเปลี่ยนข้อสะโพก”
02/11/2022
ม.มหิดล แนะผลิตเครื่องสำอางสมุนไพรปลอดภัย สนองนโยบาย BCG
02/11/2022
ม.มหิดล เปิดทาง “แพทย์” พิสูจน์ความเป็น “นวัตกร” คิดค้น “นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยวัดตำแหน่งผ่าตัดสำหรับเปลี่ยนข้อสะโพก”
02/11/2022

ม.มหิดล เปิดประตูสู่ฐานข้อมูลพยาบาลศาสตร์ไทยที่สมบูรณ์แบบและไร้ขีดจำกัดครั้งแรก

มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พยาบาลผู้อุทิศตนในการดูแลเหล่าทหารและผู้บาดเจ็บจากภัยสงคราม จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความหวังทุกครั้งที่ได้เห็นแสงตะเกียงที่ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือส่องทางเพื่อดูแลผู้ป่วยในยามค่ำคืน จนได้รับการขนานนามว่า  “Lady of the Lamp” ผู้แม้จะจากไปแล้วกว่าศตวรรษ แต่ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งคำมั่นสัญญาให้นักศึกษาพยาบาลทั่วโลกได้เจริญรอยตาม สู่การเป็นพยาบาลผู้อุทิศตนดูแลผู้ป่วยด้วยความเอื้ออาทร

เช่นเดียวกับลูกหลานพยาบาลในประเทศไทย ที่ได้เดินตามรอยตะเกียงส่องทางของ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จนได้สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาชีพที่เป็นแบบอย่างให้เรียนรู้สืบต่อกันมามากมาย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ปัจจุบันสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์  Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway (https://nssgateway.com) และเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย สร้างสรรค์โดย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เพียงคลิกเดียว

รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคณะพยาบาลศาสตร์แห่งแรก และเปรียบเหมือน “รากฐานทางการพยาบาล” ของประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงข่าวดีสำหรับนักศึกษาพยาบาล อาจารย์ นักวิจัย และผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลทั่วประเทศว่า ที่ผ่านมา คณะฯ ได้ระดมสรรพกำลังสร้างเครือข่ายห้องสมุดพยาบาลทั่วประเทศ จนปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 44 แห่งจากทั้งหมดเกือบ 50 แห่งทั่วประเทศ

และได้เปิดทางเข้าแบบเสรี (Open Access Gateway) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้พี่น้องชาวพยาบาลจากทั่วประเทศ และทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีเงื่อนไข ผ่าน “เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย” (Thailand Nursing Library Network)

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ทั้งในข้อ 3 เพื่อสุขภาวะ (Good Health and Well-being) และข้อ 4 เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภูมิใจพร้อมมอบให้นักศึกษาพยาบาล อาจารย์ นักวิจัย และผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลทั่วประเทศ และทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการค้นคว้าหาข้อมูลแบบ  evidence based ที่จะเอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีผู้ใช้ (user) ต้องการค้นคว้าเพื่อศึกษาหนทางสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ จากแหล่งข้อมูลที่รวบรวมจากผลงานของเหล่าบรรดาปรมาจารย์ทางพยาบาลศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทยแบบเร่งด่วน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้แบบ Full text หรือเต็มรูปแบบ ได้ในชั่วลัดนิ้วมือเดียว

นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ และที่ปรึกษาหัวหน้างานห้องสมุด คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ เบื้องหลังสำคัญของการสรรค์สร้าง “เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย” (Thailand Nursing Library Network) ผู้ฝากผลงานไว้ผ่าน R2R (Routine to Research) หรือ การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย ที่เกิดขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ทำงานด้านห้องสมุดที่สั่งสมมาอย่างยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ

โดยได้ค้นพบว่า “เครือข่ายดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ซึ่งจากการระดมสรรพกำลังสร้างเครือข่ายห้องสมุดพยาบาลทั่วประเทศ นำโดย ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 44 แห่งจากทั้งหมดเกือบ 50 แห่งทั่วประเทศนั้น นอกจากจะได้ “พันธมิตร” ทางข้อมูลข่าวสารพยาบาลศาสตร์ที่สมบูรณ์และแข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังทำให้สามารถประหยัดทรัพยากรได้ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างเครือข่าย แทนที่ต่างคนต่างต้องซื้อฐานข้อมูลมาใช้จ่ายอีกเป็นจำนวนมหาศาล

จากความโดดเด่นของผลงาน “เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย” (Thailand Nursing Library Network) ส่งผลให้สามารถคว้ารางวัลประกาศคุณภาพต่างๆ จากทั้งระดับส่วนงาน ระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศต่อมาอีกมากมาย หนึ่งในรางวัลซึ่งเป็นที่น่าจดจำและภาคภูมิใจมากที่สุด ได้แก่ รางวัลดีเด่นจากการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติของข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค “PULINET 2022”

และเมื่อเร็วๆ นี้ได้ประกาศสู่สายตาชาวโลก ผ่านบทความวิจัยภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า “Thailand Nursing Library Network & Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway” ซึ่งได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในเว็บไซต์ขององค์การวิชาชีพด้านห้องสมุดระดับนานาชาติ IFLA (International Federation of Library Associations and Institute) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

ที่สำคัญผลงานดังกล่าวจะได้ต่อยอดสร้าง “Lady of the Lamp” ของเมืองไทยให้เกิดขึ้นต่อไปอีกมากมาย และไม่ว่าเกียรติคุณใดๆ จะปรากฏขึ้นจากการเผยแพร่ผลงานระดับ masterpiece ชิ้นดังกล่าวของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ไม่สำคัญเท่าการได้เห็นประชาชนชาวไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากงานวิจัยทางพยาบาลศาสตร์ดีๆ ที่จะได้มีการสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ ต่อไปอีกมากมายในอนาคต ติดตามได้ทาง http://nssgateway.com


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210