นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแสดงวงออร์เคสตร้าในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชม ได้เปลี่ยนบทบาทขึ้นเวทีมาเป็นผู้เล่นโดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ สัญชาติ สถานภาพ วิชาชีพ ฯลฯ ซึ่งนับเป็นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 10 แห่งสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยเรื่อง “Reduced Inequalties” หรือเพื่อความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บนเส้นทางในการมุ่งสู่การเป็นนักดนตรีวิชาชีพ ไม่จำเป็นจะต้องมาจากการมีพื้นฐานทางดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์ อาจเกิดจากเพียงมีใจรัก แล้วหาโอกาสมาศึกษาเพิ่มเติมในภายหลัง หรือศึกษาดนตรีควบคู่ไปกับการเริ่มต้นเรียนในศาสตร์อื่น แล้วมาศึกษาต่อทางดนตรีอย่างจริงจังจนกลายเป็นมืออาชีพ
เช่นเดียวกับคณาจารย์ส่วนหนึ่งที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นต้นแบบ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับการเรียน หรือเล่นดนตรี สู่การเป็นนักดนตรีมืออาชีพ”
ดังนั้น โอกาสที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เล่นดนตรีกับวงออร์เคสตร้าที่ดีที่สุดในประเทศไทย อย่างเช่น วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra – ThailandPhil) ในหอแสดงดนตรีที่ดีที่สุด ใหญ่ที่สุด และได้มาตรฐานที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย อย่างเช่น หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่จุได้ถึงประมาณ 2,016 ที่นั่ง ย่อมเป็น 1 ในความปรารถนา 10 ประการ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ใฝ่ฝันที่จะต้องทำให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างแน่นอน
พิสูจน์ได้จากคอนเสิร์ต “SIDE BY SIDE WITH THE THAILANDPHIL” ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ได้รวมเอานักล่าฝันทางดนตรีทั้งหมด 92 ชีวิต มาขึ้นเวทีเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักดนตรีจาก Thai Youth Orchestra และนักดนตรีมืออาชีพจาก ThailandPhil รวมกว่า 200 ชีวิต
จากการทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างใกล้ชิด และจริงจังมาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่เพียงการให้ผู้มีหัวใจรักในเสียงดนตรี ได้มาปัดฝุ่นและสวมกอดเครื่องดนตรีที่แต่ละคนเคยหลงใหลและกล่อมโลกให้สวยงามได้ด้วยตัวเองมาก่อน
แต่คือ Social Engagement หรือ “สัญญาใจ” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมมอบสิ่งดีๆ เพื่อชุมชน โดยการเติมฝันเติมชีวิตให้กับผู้คนในชุมชนได้กลับมารู้สึกอบอุ่นและอิ่มเอม ได้รับโอกาสที่จะได้เห็นตัวเองขึ้นเวทีที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
แพทย์หญิงณิชา วนิชเวชารุ่งเรือง หรือ “คุณหมอนาว” แพทย์วิชาชีพประจำโรงพยาบาลชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วัย 24 ปี ผู้หลงใหลในการแสดงคอนเสิร์ตของ ThailandPhil และเครื่องดนตรีฟลุ๊ต (Flute) มาตลอดเวลา 6 ปีที่ได้เป็นนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นอีกบทพิสูจน์เช่นเดียวกันว่า ไม่ว่าจะมาจากอาชีพใด ก็สามารถมาร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับ ThailandPhil ได้อย่างมีความสุข และให้ความสุขกับผู้ชมได้ในขณะเดียวกัน ขอเพียงได้รับโอกาสและเปิดใจ
ซึ่งการได้มาร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับ ThailandPhil ในครั้งนี้ “คุณหมอนาว” เล่าว่าถือเป็นครั้งแรกในชีวิต รู้สึกได้ถึงความมีพลังของสมาชิกที่มาร่วมเล่นทุกคน ซึ่งการได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคนิคการเล่นดนตรีกับนักดนตรีมืออาชีพได้โดยตรง ถือเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ รู้สึกประทับใจ และอยากกลับมาอีกครั้ง
ใน 92 นักล่าฝันที่ได้ร่วมแสดงคอนเสิร์ต “SIDE BY SIDE WITH THE THAILANDPHIL” ไม่ได้มีเพียงคนไทย Aina Nadia Anis Hafina หรือ “นาเดีย” ชาวกัวลาร์ลัมเปอร์ วัย 21 ปี จากประเทศมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่ได้มาร่วมแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า วงดนตรีออร์เคสตร้า ThailandPhil ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติมากเพียงใด อย่างเช่นตัวเองในทันทีที่ทราบข่าวการจัดกิจกรรม ได้ติดต่อสมัครเพื่อมาร่วมวาดลวดลายเล่นเครื่องสายที่ฟังแล้วเหมือนต้องมนต์อย่างไวโอลิน (Violin) ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย
สิ่งที่ “นาเดีย” รู้สึกประทับใจ นอกจากการได้รับประสบการณ์ใหม่กับการได้ขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกกับวงออร์เคสตร้าในดวงใจ คือความเป็น “ทีมเวิร์ค” ที่ได้สัมผัสและเรียนรู้ ด้วยดนตรีแม้จะมาจากต่างชาติต่างภาษาก็สามารถสื่อสารถึงกันได้
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และหวังให้ทุกคนได้มีโอกาสร่วม “สร้างสังคม” เพื่อก้าวที่ยิ่งใหญ่ของชุมชน และประเทศชาติต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210