อาหารไทยที่เป็นอาหารคาวส่วนใหญ่มักมีรสชาติเผ็ด ทำให้มื้อปิดท้าย คนไทยมักนิยมรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวานจัดเพื่อดับความเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่ทำให้ต้องเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งโรคเบาหวานสามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่อไปได้อีกหลายโรค หนึ่งในผลกระทบจากโรคเบาหวานที่ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับกลายเป็นผู้พิการ คือ “ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา” ซึ่งอาจทำให้ต้องกลายเป็นผู้พิการทางสายตาได้ในที่สุด หากไม่ได้การตรวจพบเสียแต่เนิ่นๆ
รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัย “การค้นหาอัตโนมัติของภาวะเบาหวานขึ้นจอตาจากภาพถ่ายจอประสาทตา” (Automatic Detection of Diabetes Retinopathy based on Digital Retinal images) ช่วยจักษุแพทย์ให้ได้ใช้คัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้น ประกอบการวินิจฉัย และติดตามอาการของโรค
โดยเป็นผลงานที่สามารถคว้ารางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปีงบประมาณ 2563 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากความพยายามในการใช้องค์ความรู้ความเชี่ยวชาญจากการทำงานวิจัยมาสู่การใช้ประโยชน์จริง
จุดเด่นของโปรแกรมคัดกรองภาพถ่ายจอประสาทตาที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถช่วยทำให้แพทย์วินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น ด้วยระบบ AI ที่สามารถเรียนรู้ได้จากข้อมูลภาพถ่ายจอประสาทตาของผู้ป่วยที่เป็นคนไทยโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพียงภาพที่มีอยู่แล้วทั่วไปในระบบ
โดยในการทำงานวิจัย ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาเอก ของคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถึงพร้อมด้วยความรู้และทักษะพื้นฐานที่ได้รับการฝึกเตรียมพร้อมไว้แล้วตั้งแต่ในระดับปริญาตรี และโท ได้ร่วมพัฒนาต่อยอดเพื่อทำให้โปรแกรมมีประสิทธิภาพที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดการยอมรับที่กว้างขวางในเวลาต่อมา
รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ มองว่า การแก้ปัญหาด้วยการซื้อซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ไม่ยั่งยืนเท่ากับการนำความรู้ที่มีอยู่ พัฒนาขึ้นเป็นซอฟต์แวร์ใช้เองภายในประเทศ ซึ่งบางซอฟต์แวร์จากต่างประเทศอาจไม่เหมาะกับบริบทของคนไทย หรือใช้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และไม่ภูมิใจเท่าเราคิดได้เอง นอกจากนี้อาจขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ นำรายได้เข้าประเทศต่อไปได้อีกในอนาคต ซึ่งจะเป็นการพึ่งพาตัวเองที่ยั่งยืนที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210