นับเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว หลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นหลักประกันให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุม จนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ) และอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความจำเป็นของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวคิดในระดับนานาชาติที่จะผลักดันให้แต่ละประเทศจัดให้กับประชาชนในประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าสหราชอาณาจักรมีการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างในการเสริมความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับระบบฯ
มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ National Institute for Health and Care Excellence หรือ “NICE” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของสิทธิหลักประกันถ้วนหน้าแห่งสหราชอาณาจักร พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างเสริมศักยภาพของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เพื่อสร้างหลักฐานเชิงวิชาการในการสนับสนุนการตัดสินใจด้านนโยบายสุขภาพของประเทศ
โดยที่ผ่านมาหลักสูตรฯ ได้พัฒนากำลังคนด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศแถบอาเซียน เอเชียใต้และกำลังขยายขอบเขตสู่ประเทศในแถบทวีปแอฟริกา โดยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ผลิตบัณฑิต พร้อมมอบทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และจากแหล่งทุนอื่นๆ อาทิ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ และ “NICE”
“เราจะทราบอย่างไรว่า เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งรวมทั้งยาวัคซีน วิธีการผ่าตัด หัตถการ การคัดกรอง การวินิจฉัย และมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค สามารถรักษาผู้ป่วยหายจากโรค หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรค มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น พร้อมไปกับการทำให้ผู้ป่วย รวมทั้งผู้ที่ใช้เทคโนโลยีฯเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดังนั้น การประเมินประสิทธิผลของเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงประเมินความปลอดภัย ต้นทุน ความคุ้มค่า และงบประมาณของการนำเอาเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นๆ มาใช้ตลอดจนผลกระทบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลกระทบทางสังคม จริยธรรม กฎหมาย ฯลฯ จึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจ และกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศ” รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว กล่าว
หัวข้อวิจัยที่นักศึกษาในหลักสูตรเลือกทำวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ได้จากโจทย์นโยบายสุขภาพของประเทศถิ่นเกิด เช่นเพื่อนำไปแก้ไขปัญหายา หรือเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาแพง
อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการหยิบยกเรื่องสมุนไพรเพื่อศึกษาประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพโดยตรง
ซึ่ง “สมุนไพรฟ้าทะลายโจร” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ควรศึกษาด้านการประเมินในเรื่องของประสิทธิผล ประเมินความปลอดภัยตลอดจนความคุ้มค่าเพื่อประโยชน์สำหรับผู้บริโภคต่อไปในวงกว้าง
โดยหลักสูตรฯ เป็นโครงการร่วมระหว่างคณะเภสัชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
เปิดรับผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ หรือสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) ไม่ว่าจะเป็นปริญญาโท ซึ่งรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรี ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 ปี หรือเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก จะมีทั้งปริญญาตรีไปปริญญาเอก ใช้เวลาศึกษาประมาณ 4 ปีและปริญญาโทไปปริญญาเอก ใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 ปี
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล www.grad.mahidol.ac.th ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210