ม.มหิดล เปิดโลกมหัศจรรย์ ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ด้วยโมเดลของปลาม้าลาย (Zebrafish model)
03/01/2023
ม.มหิดล เสริมทักษะนศ.พยาบาล – ลดเสี่ยง “หมอตำแยจำเป็น” เปิดสอน “ผดุงครรภ์ออนไลน์” ครั้งแรก
17/01/2023

ม.มหิดล จัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในภาคกลาง

อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทเวลาให้กับงานด้านภาษาถิ่นจารึก และเอกสารโบราณตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดังมีผลงานวิจัยและบทความด้านนี้เผยแพร่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานด้านภาษาจารึก และเอกสารโบราณของไทยยวน หรือของล้านนา

อาจกล่าวได้ว่า อาจารย์  ดร.ยุทธพร นาคสุข เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งในการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของชาวไทยยวนในเขตภาคกลางของประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในฐานะผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2563

ชาวไทยยวนในเขตภาคกลางมีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเชียงแสนเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯให้คนกลุ่มนี้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองสระบุรี และเมืองราชบุรี ต่อมาก็ได้กระจายไปตั้งถิ่นฐานยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย เช่นนครปฐม ลพบุรี พิษณุโลก ฯลฯ

โครงการวิจัยของ อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข มีชื่อว่า “อนุรักษ์เอกสารโบราณของชาวไทยยวนในเขตภาคกลาง” ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคกลางโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปี 2564 – 2565 มีพื้นที่วิจัยอยู่ที่ชุมชนไทยยวนบ้านท่าเสา ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และในปี 2566 มีพื้นที่วิจัยอยู่ที่ชุมชนไทยยวนบ้านนาหนอง และหมู่บ้านทุ่งหญ้าคมบาง ตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

อันที่จริงความตั้งใจในการดำเนินโครงการของอาจารย์ คือเพื่ออนุรักษ์เอกสารของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในเขตภาคกลาง แต่เหตุที่เลือกจะอนุรักษ์เอกสารของคนไทยยวนก่อนกลุ่มอื่น ๆ เพราะภาษาและวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้เริ่มจางลงไปเรื่อย ๆ ภาษาและวัฒนธรรมไทยยวนถูกแทรกแซงจากภาษาและวัฒนธรรมไทยกลางค่อนข้างมาก

คนไทยยวนรุ่นใหม่พูดภาษาไทยยวนไม่ค่อยได้กันแล้ว และในส่วนของภาษาเขียนพบว่ามีความวิกฤตยิ่งกว่า กล่าวคือเอกสารใบลานไทยยวนที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนาแทบจะไม่มีคนในชุมชนอ่านได้แล้ว หากไม่อนุรักษ์โดยเร่งด่วนเอกสารเหล่านี้อาจสูญหายไปตลอดกาล ไม่ว่าจะด้วยน้ำมือมนุษย์ หรือเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งานของใบลานเอง

โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน เนื่องจากต้องการให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของเอกสารโบราณที่มีอยู่ และร่วมกันอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของตน

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยในโครงการนี้ด้วย 2 หน่วยงาน คือ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลอดจนยังมีนักศึกษาในหลักสูตร และบุคคลทั่วไปที่เคยเข้าอบรมกับ อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข มาร่วมทำกิจกรรมในโครงการนี้ด้วย เช่น พระภิกษุสงฆ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัย นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา นักเรียนทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษา และประถมศึกษา

กระบวนการอนุรักษ์เอกสารโบราณเริ่มตั้งแต่การทำความสะอาด การทำทะเบียน การทำสำเนาดิจิทัล การซ่อมแซมและการจัดเก็บ การทำสำเนาดิจิทัลจะช่วยยืดอายุของเอกสารต้นฉบับให้ยาวนานขึ้น เพราะสามารถอ่านจากสำเนาได้โดยไม่ต้องหยิบจับเอกสารต้นฉบับ และถึงแม้ต้นฉบับจะสูญสลายหรือเสียหาย สำเนาดิจิทัลนี้ก็ยังจะคงอยู่ต่อไป

ขณะนี้มีเอกสารโบราณที่ได้รับการทำสำเนาดิจิทัลไปแล้วกว่า 400 รายการ และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกประมาณ 1,000 รายการ พบอักษรที่ใช้บันทึกถึง 5 ชนิด ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา อักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ อักษรขอมไทย อักษรธรรมลาว และอักษรไทยน้อย

เป้าหมายปลายทางของโครงการ คือ การสร้างฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลางให้มีสำเนาดิจิทัลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้น และดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ คาดว่าฐานข้อมูลของโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 นี้

อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการอนุรักษ์เอกสารโบราณว่า ตนเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทำงานแบบเดียวกันนี้ในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย รวมถึงมีฐานข้อมูลเอกสารโบราณที่สังกัดหน่วยงานเหล่านี้อีกไม่น้อย แต่ปัจจุบันมีลักษณะต่างคนต่างทำ

อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข จึงตั้งความหวังว่าน่าจะมีหน่วยงานเจ้าภาพที่บูรณาการงานด้านนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของชาติแขนงนี้มีความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

1.นสพ.ไทยรัฐ 24-12-65 หน้า 7 https://op.mahidol.ac.th/ga/wp-content/uploads/twitter/news-2022-12-25-1.pdf

2.เมดิคอลไทม์ 25-12-65 http://medi.co.th/news_detail41.php?q_id=1682&mibextid=Zxz2cZ

3.นิตยสารสาระวิทย์ 25-12-65 https://www.nstda.or.th/sci2pub/ancient-documents-digital-database/

4.ThaiPR.NET 26-12-65 https://www.thaipr.net/education/3285127

5.RYT9.COM 26-12-65 https://www.ryt9.com/s/prg/3384820

6.newswit 26-12-65 https://www.newswit.com/th/Lw66

7.Edupdate 26-12-65 https://www.edupdate.net/2022/31082/

8.ไทยโพสต์ 27-12-75 https://www.thaipost.net/news-update/292276/

9.นสพ.แนวหน้า 28-12-65 หน้า 17 https://op.mahidol.ac.th/ga/wp-content/uploads/twitter/news-2022-12-28-7.pdf

10.นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน 28-12-65 https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_239053

11.คอลัมน์ถูกทุกข้อ นสพ.ไทยโพสต์ 30-12-65 หน้า 5 https://op.mahidol.ac.th/ga/wp-content/uploads/twitter/news-2022-12-31-1.pdf

ให้คะแนน
PR
PR