ม.มหิดล ปลูกฝังเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนป่า ผ่านการเรียนรู้เสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
21/11/2022
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 56 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
25/11/2022
ม.มหิดล ปลูกฝังเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนป่า ผ่านการเรียนรู้เสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
21/11/2022
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 56 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
25/11/2022

ม.มหิดล เร่งสร้างรากฐานมั่นคงพลเมืองประชาธิปไตยในประเทศก่อนมุ่งสู่เวทีโลกเต็มตัว

“ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย”  จำเป็นต้องมีการปลูกฝังกันอย่างจริงจังในทุกช่วงวัย และระดับการศึกษา

อาจารย์ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในโลกไร้พรมแดนเช่นปัจจุบันจำเป็นต้องมีการส่งเสริม “สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยศึกษา” เพื่อเร่งสร้างความเป็นพลเมืองโลก โดยในประเทศไทย โดยโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (Institute of Human Rights and Peace Studies – IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ที่ผ่านมา IHRP ยังได้รับความไว้วางใจเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนระดับโลก ให้เป็นมหาวิทยาลัยหลักในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาประชาธิปไตย ในระดับบัณฑิตศึกษา ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แต่เมื่อพิจารณาบริบทภายในประเทศกลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงขาดมุมมองในการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามและเปิดใจรับความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยไม่มากเท่าที่ควร จึงยังคงต้องเร่งปลูกฝังในเรื่องดังกล่าว การพยายามขับเคลื่อน “ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย” ให้เกิดเป็น “ความตระหนัก” เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในทุกช่วงวัย และระดับการศึกษา

ในแผนการนำมหาวิทยาลัยมหิดลก้าวขึ้นสู่การเป็น “Human Right Education Hub” ระดับสากลอย่างเต็มตัวนับจากปี 2565 IHRP จะได้ใช้ประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนจากบริบทโลก มาให้ความสำคัญกับการสร้าง “พลเมืองประชาธิปไตยศึกษา” ในประเทศไทย

โดยเริ่มเน้นจากภายในระดับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมีการผลักดันให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การจัดการความขัดแย้ง ผสานเข้ากับศาสตร์ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนอยู่ โดยเฉพาะในหลักสูตรทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งจะสร้างความร่วมมือกับหลักสูตรศาสนศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

จากนั้นจะขยายขอบเขตสู่การจัดฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลสู่การศึกษาในระดับอื่นๆ ตลอดจนองค์กรต่างๆภายในประเทศไทย เพื่อพัฒนาสู่ระดับนโยบายของชาติต่อไป

“เรามุ่งพัฒนาองค์ความรู้สู่ “ปัญญาปฏิบัติ” เพื่อการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเชื่อว่าโลกแห่งสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยจะเป็นเสรีภาพที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ อันเปี่ยมด้วยความสำนึก และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของ “พลเมืองประชาธิปไตย” ที่ดี มีคุณภาพ และยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกต่อไปได้อย่างแน่นอน” อาจารย์ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210