ม.มหิดล เตรียมยกระดับคุณภาพสัตว์ทดลองปลอดเชื้อ
16/11/2022
ม.มหิดล เปิดเว็บไซต์ AIThaiGen สร้างนักเรียน-ครูพันธุ์ใหม่ ใส่ใจเทคโนโลยีแห่งอนาคต
21/11/2022

ม.มหิดล หวั่นมรดกโลกสูญหาย ร่วมสืบสานความรู้ เพื่อการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในยุคดิจิทัล

ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ “พระไตรปิฎก” (Tripitaka) ซึ่งรวบรวมคำสั่งสอนสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีการบันทึกในเอกสารโบราณ (manuscripts) ต่างๆ โดยเฉพาะใน “คัมภีร์ใบลาน” (palm leaf manuscripts)

อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงคุณค่าและความสำคัญของ “คัมภีร์ใบลาน” (palm leaf manuscripts) ในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรม” (cultural heritage) ที่สำคัญว่าคัมภีร์ใบลานที่พบส่วนใหญ่ นอกจากมีเนื้อหาพระไตรปิฎกยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญด้านต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมในอดีต กฎหมาย การรักษาโรค รวมถึงตำรายา โดยข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ด้วยอักษรโบราณต่างๆ เช่น “อักษรขอม” “อักษรธรรมล้านนา” และ “อักษรมอญ” เป็นต้น

จากงานวิจัยพบว่า นานาประเทศล้วนให้ความสำคัญ และมีการจัดสรรทุนวิจัยเพื่อการศึกษา และอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบซีกโลกตะวันตก มีคัมภีร์ใบลานจำนวนมากนับพันผูกถูกนำมาเก็บไว้ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม

ในปัจจุบันหอสมุดหลายแห่งในตะวันตก มีการจัดเก็บอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการสูญหายของต้นฉบับคัมภีร์ใบลาน และบางหอสมุดมีการจัดทำฐานข้อมูลภาพคัมภีร์ใบลานที่สามารถสืบค้นได้ ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักวิจัยทั่วโลก สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น

สำหรับในประเทศไทยมีคัมภีร์ใบลานที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์นับล้านผูก หลายหน่วยงานสำคัญ เช่น กรมศิลปากรได้มีการสำรวจ จัดทำบัญชีรายชื่อ และอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไว้เป็นจำนวนมาก แต่คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดนับหลายแสนผูกในประเทศไทยยังขาดการดูแลรักษา และไม่ได้มีการนำมาศึกษากันอย่างจริงจัง

“การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน นอกจากจะเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชาติผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจกับความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นอย่างมาก”

“การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานตามวัด และหอสมุดต่างๆ อย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ จะสามารถกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาลต่อไปได้ในอนาคต” อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล กล่าว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย วิทยาลัยศาสนศึกษา ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูความรู้ด้านอักษรโบราณที่จะมีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ไว้ซึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญในการเข้าใจ เนื้อหาในคัมภีร์ใบลาน

โดยมีกำหนดการจัดอบรม “โครงการปริวรรตถ่ายทอดอักษรขอม” วิทยากรโดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุลรักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรม ในทุกเช้าวันเสาร์ของเดือนพฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 – 11.00 น. ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์ ค่าวิชาแล้วแต่จิตศรัทธา

ผู้สนใจอบรม “โครงการปริวรรตถ่ายทอดอักษรขอม” สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานการศึกษา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2800-2633 และ 0-2800-2638 https://crs.mahidol.ac.th Facebook: College of Religious Studies,  Mahidol University

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ให้คะแนน
PR
PR