เมื่อโลกต้องตกอยู่ภายใต้วิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้หลายกิจการต้องหยุดนิ่งเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ แม้ในที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด ก็อาจเป็นที่ที่อันตรายที่สุด ในเมื่อระบบกรองอากาศยังคงใช้เพียง “กรองฝุ่น” และ “ดักเชื้อโรค” เท่านั้น
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ขยายขอบเขตการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมกรองอากาศ จากเดิมที่ใช้เพื่อกรองฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรมจนได้ผลเป็นที่ประจักษ์ และขยายประโยชน์ออกไปในวงกว้าง จนปัจจุบันได้ยกระดับสู่แผ่นกรองเคลือบสารกำจัดเชื้อโรค เพื่อคนไทยห่างไกลจากเชื้อโรค
รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข โอศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าถึงความสำเร็จที่ผ่านมาจากการคิดค้นนวัตกรรมชุดกรองฝุ่น และระบบการทำงานของชุดกรองฝุ่น ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๑๒๙๒๖
โดยได้ร่วมกับ นายสำเริง สาลีวัฒนพงศ์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ใช้เทคนิค “การดักมลสารด้วยมลสาร” ที่สามารถใช้กรองฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรมได้ แม้จะเป็นฝุ่นขนาดเล็ก โดยอาจใช้ร่วมกับถุงกรองด้วยก็ได้ และมีความยินดีหากสถานประกอบกิจการดำเนินการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นไม้ เพื่อแรงงานไทยรอดพ้นจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal cancer) ที่คอยคุกคามสุขภาวะของผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับฝุ่นโดยยากที่จะหลีกเลี่ยง
ผลงานอีกเรื่องคือ “การเคลือบแผ่นกรองด้วยซิลเวอร์ซีโอไลต์” เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ จากการพบว่าการกรองด้วยแผ่นกรองอย่างเดียวเป็นการ “ดักเชื้อโรค” ซึ่งเป็นเพียงการ “กั้นคนออกจากเชื้อโรค” แต่เพียงชั่วคราว โดยเมื่อผู้วิจัยได้ทดลองนำเอาเชื้อจุลชีพที่อยู่บนแผ่นกรองมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ พบว่ายังคงมีชีวิตสามารถเจริญเติบโต และพร้อมแพร่กระจายได้ต่อไป
ผู้วิจัยจึงได้ร่วมกับ อาจารย์นัฐชานนท์ เขาราธ อาจารย์ประจำภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดหาทางออกโดยนำซิลเวอร์ซีโอไลต์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อโรค มาเคลือบที่แผ่นกรอง
โดยพบว่าสามารถกำจัดเชื้อโรค “สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส” (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นเชื้อโรคติดต่อได้อย่างเห็นผล ช่วยตัดกังวลเรื่องการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลในด้านสุขอนามัยเป็นพิเศษ เช่น ตามโรงพยาบาล หรือสถานดูแลเด็กอ่อน เป็นต้น
โดยเป็นผลงานที่ได้รับทุนวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ถึงผลการวิจัยอันเป็นที่ยอมรับแล้วในวารสารวิชาการ และได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว รอการอนุมัติเพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ในฐานะผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะสร้างชื่อ และคุณประโยชน์ได้ต่อไปในวงกว้าง
และในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข โอศิริ กล่าวให้ความเชื่อมั่นทิ้งท้ายว่า ขอเพียงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมคำนึงถึง “แรงงานไทย” อันเป็นฟันเฟืองสำคัญของห่วงโซ่เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศชาติ ให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีสุขภาวะที่ดี เช่นเดียวกับพี่น้องชาวไทยทุกคน ทีมวิจัยพร้อมเดินหน้าทำงานวิจัยอย่างเต็มที่
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210