ม.มหิดล ชี้วิจัยโรค NCDs เปลี่ยนเป้าหมายสู่รุ่นเยาว์
10/11/2022
ม.มหิดล เตือนคนรุ่นใหม่เสพและสร้างสื่อสุขภาพด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
10/11/2022
ม.มหิดล ชี้วิจัยโรค NCDs เปลี่ยนเป้าหมายสู่รุ่นเยาว์
10/11/2022
ม.มหิดล เตือนคนรุ่นใหม่เสพและสร้างสื่อสุขภาพด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
10/11/2022

ม.มหิดล สร้างขุมพลังชุมชนเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย

หากเปรียบชีวิตเหมือนกับการแข่งขันกีฬา ที่สุดแห่งความหวัง คือการได้เข้ารอบสุดท้าย พร้อมขึ้นแท่นรับถ้วย และเหรียญรางวัล ก่อนโบกมืออำลาตำแหน่งแชมป์ เมื่อมีผู้มาชิงชัย

เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ต้องต่อสู้กับโรคภัยที่รุมเร้าจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตกลับไม่ใช่ถ้วยหรือเหรียญรางวัล หากคือ การมีใครสักคนหนึ่งคอยปลอบโยนผู้ป่วยอยู่ข้างเตียง และจากไปอย่างไม่โดดเดี่ยว

ดร.เพียงพิมพ์ ปัณระสี ผู้ช่วยอาจารย์หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 18 เจ้าของผลงานวิจัยเด่นเพื่อสังคม นำเสนอในงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม ประจำปี 2565” (Mahidol University Social Engagement Forum : MUSEF 2022) ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น ณมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อเร็วๆ นี้

จากผลงานที่มีชื่อว่า “การมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน ต.เขาทองอ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์” ซึ่งกลั่นออกมาจากประสบการณ์กว่าสองทศวรรษของการเป็นพยาบาลในชุมชนผู้ทุ่มเทเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย ณ โรงพยาบาลลานสัก ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นถิ่นเกิดของ ดร.เพียงพิมพ์ ปัณระสี

เมื่อได้มาปฏิบัติหน้าที่ ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง รับผิดชอบดูแลประชากรในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 5,000 ราย และในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้สูงวัยถึงร้อยละ 30 และมีส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยสูงวัยระยะบั้นท้ายของชีวิต และที่เป็นผู้ป่วยระยะท้าย

ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด ดร.เพียงพิมพ์ ปัณระสี จึงได้ริเริ่มจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้าน ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรทางการแพทย์ และเครือข่ายสุขภาพในชุมชน

ด้วยแนวคิดเพื่อให้ชุมชนได้ดูแลกันดุจญาติพี่น้อง จึงได้นำความรู้จากผลวิจัย และการพัฒนาที่เคยได้ดำเนินการในจังหวัดอุทัยธานี มาเผยแพร่โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แก่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) และญาติ ในการดูแลร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย จัดหาอุปกรณ์ ตลอดจนแนะนำการจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยระยะท้ายอย่างครบวงจร

ดร.เพียงพิมพ์ ปัณระสี ได้บอกเล่าถึงความประทับใจจากการลงพื้นที่ กรณีหลานสาวผู้เลือกที่จะหยุดงานมาเฝ้าดูแลประคับประคองยายวัย 80 กว่าปีที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะท้ายด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าไปช่วยแนะนำการดูแล จัดหาอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

ความประทับใจเกิดขึ้นจากการได้เห็นความงามในความผูกพันและความกตัญญูที่หลานมีต่อยายผู้เลี้ยงดูหลานมาตั้งแต่วัยเยาว์ จนยายถึงวัยชรา และต้องเจ็บป่วยจนจากไปอย่างสงบ โดยหลานยืนยันที่จะอยู่เฝ้าดูแลยายเพียงลำพังทั้งๆ ที่รู้ดีว่าถึงอย่างไรก็ไม่อาจยื้อชีวิตยาย แต่หลานก็ยังพร้อมทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในการตอบแทนพระคุณดูแลยายจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

“ยังมีโรคอุบัติใหม่ และโรคร้ายแรงอีกมากมายที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญต่อไปอีกในวันข้างหน้า เชื่อว่าด้วยพลังแห่งเครือข่ายชุมชนที่ทุกคนให้การดูแลกันดุจญาติพี่น้องนี้จะกลายเป็นพลังที่แข็งแกร่งและยั่งยืนให้ชุมชนพร้อมยืนหยัดตั้งรับและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นต่อไปได้ในทุกสถานการณ์” ดร.เพียงพิมพ์ ปัณระสี กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210