ก่อนที่แหล่งเรียนรู้จะขยายขอบเขตสู่โลกออนไลน์ ศูนย์กลางทางการศึกษาของไทยเคยอยู่ที่วัดวาอารามมาก่อน สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครปฐม “วัดสุวรรณาราม” เป็นปูชนียสถานที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขุดคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นเส้นทางสู่องค์พระปฐมเจดีย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 หรือเมื่อ 160 ปีที่ผ่านมาโดยมี “โรงเรียนวัดสุวรรณาราม” อยู่ภายในพัทธสีมา
จากคำบอกเล่าของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดิ์ แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชน
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ได้ร่วมกับแกนนำชาวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จัดทำแผนที่วัฒนธรรม และเตรียมปั้น “ยุวมัคคุเทศก์” เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของชุมชน โดยมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่โรงเรียนวัดสุวรรณาราม ซึ่งอยู่ใกล้จุดลงเรือเที่ยวชมคลองมหาสวัสดิ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล กล่าวว่า ในการเตรียมพร้อม “ยุวมัคคุเทศก์” เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับการท่องเที่ยวของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จำเป็นต้องขจัดความไม่รู้หนังสือ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเสียก่อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ จึงได้ร่วมกับ โรงเรียนวัดสุวรรณาราม เตรียมจัดสร้าง “ห้องสมุดรักการอ่าน” แต่จากการสำรวจพื้นที่พบปัญหาครูภาษาไทยขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการรู้หนังสือ
จึงเกิดเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา โดย สาขาวิชาภาษาไทยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาของคณะฯ ได้ร่วมออกแบบสื่อการสอน และกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือให้กับน้องๆโรงเรียนวัดสุวรรณาราม
อาจารย์ ดร.พงษ์กรณ์ วีรพิพรรธน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติมถึงนวัตกรรมทางการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาของคณะฯ ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนดังกล่าวว่า เป็นการออกแบบสื่อการสอนร่วมกับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนวัดสุวรรณารามเพื่อฝึกการเรียนรู้คำศัพท์ที่สำคัญจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว
ตัวอย่างเช่น สอนให้เด็กๆ ได้รู้จัก “บ้านศาลาดิน” ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์โดยการพาเด็กไปเที่ยว แล้วให้ลองฝึกแต่งประโยคเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
เนื่องจากครูมีจำกัด จึงได้เน้นให้มีการเรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งนอกจากการเรียนรู้คำศัพท์แล้ว ยังได้สอดแทรกความรู้ในเรื่องอื่นๆ เช่น สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ฯลฯ ร่วมด้วย เช่น ในการสอนให้รู้จักคำศัพท์ “ก๋วยเตี๋ยว” นอกจากการบอกเล่าถึงความหมายและที่มาแล้ว อาจให้ความรู้เรื่องโภชนาการร่วมด้วย
ซึ่งต่อมาได้มีการขยายผลสู่เด็กๆ ในชั้นเรียนอื่น โดยอาจารย์ ดร.พงษ์กรณ์ วีรพิพรรธน์ มองว่า การจะทำให้เด็กๆรักการอ่านได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการเรียนสอนที่สร้างสรรค์ และคอยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
จึงได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมแสดงไอเดียคิดเกมและกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อการเรียนรู้คำศัพท์อย่างเต็มที่ อาทิเกมฝึกเล่าภาพจากเพื่อน และกิจกรรมการเต้น Cover Dance สอนคำศัพท์จากเกม ที่นำมาซึ่งความสนุกสนานเพลิดเพลินและความประทับใจเพิ่มเติมจากองค์ความรู้ที่มอบให้
สำหรับก้าวต่อไปที่จะได้มีการจัดตั้ง “ห้องสมุดรักการอ่าน” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรู้หนังสือ ณ โรงเรียนวัดสุวรรณารามนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมจัดหาหนังสือที่มีคุณค่า และมีเนื้อหาที่จำเป็นต่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน ซึ่งหากผู้สนใจจะร่วมบริจาคหนังสือสามารถติดต่อได้ที่ www.la.mahidol.ac.th Facebook : Mahidol University, Faculty of Liberal Arts
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210