ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกล “มะเร็ง”
07/02/2023
ม.มหิดล จับเทรนด์ “อนาคตศาสตร์” สร้างสรรค์รายวิชาออนไลน์
14/02/2023

Thailand International Jazz Conference 2023 (TIJC) ห้องเรียนที่มีชีวิต

เผยแพร่: 

โดย อาจารย์นพดล ถิรธราดล อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์

“อยากสร้างให้เทศกาลดนตรี TIJC เป็นเหมือน “ห้องเรียนที่มีชีวิต” เป็น Community แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ ของคนรักดนตรีแจ๊ส”

ดนตรี “แจ๊ส” (Jazz) เติบโตมาในดินแดนทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา แถบเมืองนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) ประมาณปี ค.ศ.1900 ดนตรีแจ๊สได้รับอิทธิพลจากดนตรี 3 กลุ่ม ได้แก่ เพลงกอสเปล เพลงแร็กไทม์ และเพลงบูลส์ ลักษณะดนตรีทั่วไปจึงเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมดนตรีของแอฟริกาตะวันตก อเมริกา และยุโรปเข้าด้วยกัน ทำให้ลักษณะดนตรีแจ๊สมีลักษณะการสร้างสรรค์ทำนองจากการอิมโพรไวส์ และมีบทเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ ดนตรีแจ๊สได้รับความนิยมและแพร่หลายไปทั่วโลก ได้รับการยอมรับทั้งด้านสุนทรียศาสตร์และคุณค่าทางวัฒนธรรม (1)

ในประเทศไทยดนตรีแจ๊สเริ่มเข้ามาในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งคณะวงดนตรีแจ๊ส “เรนโบว์คลับ” ได้แก่ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ซึ่งนับเป็นวงดนตรีแจ๊สชาวไทยวงแรกในประวัติศาสตร์ ดนตรีแจ๊สในไทยได้รับความนิยมและยอมรับมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ส่งผลต่อค่านิยมของสังคมไทยในอีกมิติหนึ่ง (2) ความนิยมบทเพลงแจ๊สในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางด้านดนตรีแจ๊สเป็นจำนวนมากทั้งในรูปแบบของการประกวดแข่งขัน การแสดงดนตรี อาทิ Thailand International Jazz Festival, Pattaya Music Festival, Hua Hin Jazz Festival และ Bangkok Jazz Festival เป็นต้น ล้วนเป็นเทศกาลดนตรีแจ๊สที่ได้รับความสนใจ และสร้าง Community ของคนรักดนตรีแจ๊ส

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Thailand International Jazz Conference หรือ TIJC เป็นหนึ่งในงานเทศการดนตรีแจ๊สที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยการสร้างให้เทศกาลดนตรีแจ๊ส TIJC นี้เป็นเหมือน “ห้องเรียนที่มีชีวิต” เป็นความผสมผสานที่ลงตัวระหว่าง Jazz Festival ที่สร้างความบันเทิงและรื่นรมย์ กับ Jazz Education ที่สร้างแรงบันดาลใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เหมือนเป็น Community ของคนรักดนตรีแจ๊ส เทศกาลดนตรีแจ๊ส TIJC จัดขึ้นโดยกลุ่มอาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาในประเทศไทยแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส ตั้งแต่ปี 2541 เพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้อุตสาหกรรมดนตรีแจ๊ส ซึ่งในปัจจุบันเติบโตและงดงามอยู่ในแวดวง Producer นักดนตรี และผู้อยู่เบื้องหลังในอุตสาหกรรมดนตรีเป็นจำนวนมาก

จากความตั้งใจของกลุ่มผู้จัดที่อยากให้งานเทศกาลดนตรีแจ๊ส TIJC นี้เป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้ระหว่างนักดนตรี และผู้เข้าชม ประกอบกับการสนับสนุนเป็นอย่างดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เชื่อว่าการให้ความรู้ สามารถสร้างความยั่งยืนและมั่นคงให้กับสังคมได้มากกว่าแค่การให้ความสนุก และสร้างความบันเทิงจากดนตรีแจ๊ส ทำให้ Concept ของกิจกรรมภายในเทศกาลดนตรี TJIC จะเน้นให้ผู้ชมได้รับทั้ง Entertainment (ความบันเทิง) Education (ความรู้) และ Inspiration (การสร้างแรงบันดาลใจ) ผ่านการแสดงดนตรีของศิลปินระดับโลก และท้องถิ่นที่มาร่วมแสดงและแลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมถึงกิจกรรม Workshop Masterclass จากศิลปินระดับโลกที่หมุนเวียนเข้ามาร่วมงานตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา

“ห้องเรียนที่มีชีวิต” ห้องนี้ ยังเป็นเหมือนเวทีให้นักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เห็นถึงการสร้างแรงบันดาลใจ วิถีชีวิตความเป็นไปของศิลปินแจ๊ส เห็นถึงความทุ่มเทให้กับดนตรีแจ๊สที่เค้ารัก ทำให้นักศึกษาได้ซึมซับ และเห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตว่า หากเราอยากจะก้าวไปถึงจุดนั้น เราจะต้องทุ่มเทและพัฒนาตัวเองอย่างไร รวมถึงนักศึกษายังได้เรียนรู้ถึงการทำงานเทศกาลทั้งระบบว่ามีขั้นตอนการเตรียมงานและดำเนินการอย่างไร เพื่อให้งานออกมาตามแผน เหมือนให้นักศึกษาได้เห็นถึง Role Model ผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียนนี้

กว่า 13 ปีที่ผ่านมา ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 14 ของ Thailand International Jazz Conference หรือ TIJC กลุ่มผู้จัดเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการจัดงาน ทั้งเรื่องของการสนับสนุน รสนิยมของกลุ่มผู้ฟัง พัฒนาการของดนตรีแจ๊สทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชีย และเพื่อนบ้านของเราอีกหลาย ๆ ประเทศ จากปีแรกที่เรามีศิลปินจากต่างประเทศมาร่วมงานเพียงไม่กี่ประเทศ จนในปัจจุบันเราได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในปีนี้ TIJC ได้รับความร่วมมือจากสถานทูต 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สาธารณรัฐออสเตรีย และสาธารณรัฐอิตาลี ส่งวงดนตรีเข้าร่วมงาน ร่วมถึงศิลปินจากอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชีย มารวมตัวกันในงานนี้ นอกจากนี้ ในปีนี้ TIJC ปีที่ 14 เปิดเวทีแข่งขันให้นักดนตรีแจ๊ส เข้ามาร่วมแชร์และนำเสนอผลงานผ่านการประกวด TIJC Solo Competition 2023 และ TIJC Jazz Band Competition 2023 เวทีที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไป เพราะมีศิลปินระดับโลกร่วมเป็นกรรมการ
TIJC จะยังคงเติบโตต่อไป พร้อม ๆ กับการสร้างสรรค์ Content ที่สร้างประโยชน์ให้แก่วงการดนตรีแจ๊ส ผ่านความบันเทิงที่จะสร้างคุณค่าทางการศึกษา และแรงบันดาลใจให้คนรักแจ๊สเช่นเคย ติดตาม “ห้องเรียนมีชีวิต” ผ่าน Community ของคนรักแจ๊สได้ที่ Facebook Fan Page: https://www.facebook.com/tijc.net


เรียบเรียงบทความ โดย คุณกณิศอันน์ มโนพิโมกษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

1/5 - (1 vote)
PR
PR