ม.มหิดล ร่วมกับชุมชน สร้างสรรค์ศูนย์อาหารสุขภาพออนไลน์ “ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต”
03/02/2023ม.มหิดล เดินหน้าโครงการคลินิกกายภาพบำบัดสัญจรสู่ชุมชน สู่ปีที่ 15
03/02/2023ดนตรี คือ บันไดสู่พัฒนาการสำคัญของชีวิตเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยองค์ประกอบสำคัญของดนตรีคลาสสิกที่มีเครื่องดนตรี และท่วงทำนองที่เป็นแบบแผน จะเป็นประตูบานสำคัญเปิดสู่ “โลกไร้พรมแดนที่มีหัวใจเดียวกัน” ให้สามารถเชื่อมโยงถึงกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษ เจริญสุข อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษสร้างสรรค์ผลงาน และนำไปประยุกต์ใช้ “นวัตกรรมการ์ดเล่นเกมสำหรับฝึกการเรียนรู้และจดจำเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตร้า” จนปัจจุบันสามารถใช้เป็นเครื่องมือเสริมการสอนให้ยุวชนชาวไทยได้รู้จักเครื่องดนตรีสากลผ่านการเล่มเกมเสริมทักษะ ที่นอกจากการได้ฝึกจดจำเครื่องดนตรีสากลในแต่ละประเภทแล้ว ยังทำให้ได้รับความเพลิดเพลินจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน
โดยในชั้นเรียนดนตรีเด็กเล็ก นอกจากจะช่วยทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยังทำให้เด็กๆ ได้สนุกกับเพื่อนๆ เป็นการจุดประกายริเริ่มให้เด็กสนใจเครื่องดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นโอกาสต่อไปในชีวิต ในการค้นพบเครื่องดนตรีที่เหมาะกับตัวเอง
ด้วยหลักการนำเสนอที่ท้าทายของบอร์ดเกมที่กระตุ้นให้ผู้เล่นเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ เพื่อฝึกทักษะการตั้งคำถาม และเทียบเคียง ผ่านการออกแบบเนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักทฤษฎีดนตรีของการจัดหมวดหมู่เครื่องดนตรี และการวางตำแหน่งในวงออร์เคสตร้า
โดยแทนสัญลักษณ์หมวดหมู่เครื่องดนตรีด้วยการใช้สี อาทิ “สีแดง” แทนหมวดเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย พร้อมกับรูปทรงเรขาคณิต (วงกลม) เมื่อปรากฏบนผังวงออร์เคสตร้าจะเห็นเน้นเป็นโซนสีแดง เป็นต้น ประกอบกับการออกแบบด้วยภาพการ์ตูน ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจ และง่ายต่อการจดจำสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาพบว่า การใช้การ์ดเล่นเกมสำหรับฝึกการเรียนรู้ และจดจำเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตร้าไม่ได้จำกัดประโยชน์เพียงเพื่อการเรียนรู้ในชั้นเรียนดนตรีเด็กเล็ก แต่ยังทำให้พ่อ แม่ และลูกได้ใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดสัมพันธภาพในครอบครัวได้เพียงแค่อยู่ในบ้าน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษ เจริญสุข ยังคงยืนยันที่จะทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนานวัตกรรมการ์ดเล่นเกมสำหรับฝึกการเรียนรู้ และจดจำเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตร้าให้มีองค์ประกอบ และเนื้อหาที่จะสามารถขยายประโยชน์ต่อไปสู่วงกว้าง
ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายโอกาสเพื่อการศึกษาที่เท่าเทียมตามเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจไทย จากการขยายโอกาสทางการตลาดบอร์ดเกม ที่จะพิสูจน์ให้โลกได้เห็นศักยภาพของคนไทย ในการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตามกระแสโลก
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ภาพโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
1.Edupdate 16-1-66 https://www.edupdate.net/2023/31492/
2.ThaiPR.NET 16-1-66 https://www.thaipr.net/education/3290971
3.RYT9.COM 16-1-66 https://www.ryt9.com/s/prg/3389550
4.newswit 16-1-66 https://newswit.com/th/LxWc