มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ปีพุทธศักราช 2566
29/12/2022ม.มหิดล ภูมิใจนวัตกรรม “หุ่นฝึกฉีดยา” ฝึกทักษะ นศ.พยาบาล ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความแม่นยำ และชำนาญ
03/01/2023จะดีเพียงใดถ้าการปลูกผักเป็นได้มากกว่า “การสร้างแหล่งอาหาร” ให้ได้อิ่มท้อง แต่คือ “การสร้างสัมพันธภาพ” ระหว่างผู้คน เป็น “ผักระเบียงรัก” จากแนวคิดลดโลกร้อน สู่อุ่นไอรักแห่งมิตรภาพ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ” พร้อมหยิบยื่นให้ด้วยความห่วงใยสุขภาพ
อาจารย์ ดร.วีรฉัตร์ ฉัตรปัญญาเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและกายภาพ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการปลูกผักริมระเบียงเพื่อลดโลกร้อนของคณะฯ เริ่มต้นมาแล้ว 2 ปีเศษ ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ว่าด้วยเรื่อง “Management for Self-sufficiency and Sustainable” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตามกระแสโลกในยุคปัจจุบัน
โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืน และเป็นแบบอย่างสู่คนรุ่นลูกหลาน ซึ่งการปลูกผักริมระเบียงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ชีวิตสังคมเมืองที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากเป็นการช่วยลดโลกร้อนแล้ว และยังช่วยลดค่าครองชีพได้ในยามวิกฤติ
นายอภิรมย์ อังสุรัตน์ หัวหน้างานกายภาพและบริการพื้นฐาน สำนักงานคณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกผักริมระเบียงดูแลง่าย โดยไม่ต้องลงสนาม หรือพื้นที่กว้าง
ที่ผ่านมาทางคณะฯ ได้ใช้พื้นที่ระเบียงของทั้ง 2 อาคาร ซึ่งเดิมใช้ปลูกดอกไม้เพื่อให้ดูงดงาม แต่ต้องคอยดูแลไม่ให้เหี่ยวเฉา เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกผัก นอกจากจะสามารถนำไปบริโภคได้แล้ว ยังให้ความงดงามดุจดอกไม้จากการทำให้ผู้คนในคณะฯ ได้ร่วมดูแลผักปลอดสารพิษ และดูแลสุขภาพกายและใจ จากการหยิบยื่นผักปลอดสารพิษที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพให้กันและกัน
โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดจากการทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษใบไม้ และเศษอาหารที่ย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ด้วยนวัตกรรมที่ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มขึ้น และมองว่าหากได้นำมาใช้ปลูกผักที่ทุกคนบริโภคได้ ไม่ต้องการดูแลมาก และพร้อมเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
จึงได้นำเมล็ดพืช อาทิ ผักบุ้ง ทานตะวัน ผักกวางตุ้ง ฯลฯ มาทดลองปลูก และเก็บเกี่ยวในระยะที่ยังเป็นต้นอ่อน ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ต่อหนึ่งรอบการปลูก เพื่อให้ได้ยอดอ่อนผักบุ้งขนาด 30 เซนติเมตร ยอดอ่อนทานตะวันขนาด 12 เซนติเมตร และยอดอ่อนกวางตุ้งขนาด 30 เซนติเมตร พร้อมเก็บเกี่ยว และจำหน่ายให้กับนักศึกษา และบุคลากรของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนผู้ที่แวะเวียนมาที่โรงอาหาร และร้านมือสองของคณะฯ
จากผักสวนครัวที่หาได้โดยทั่วไป สู่ “ผักระเบียงรัก” ที่ทำให้ผู้คนภายในคณะฯ ได้คุยกันฉันท์พี่น้อง แลกเปลี่ยนภาพเมนูผักปลอดสารพิษที่นำไปสร้างสรรค์ขึ้นอย่างหลากหลาย เป็น “กำไร” ที่วัดไม่ได้เป็นจำนวนเงิน แต่ให้ “คุณค่าทางจิตใจ” ผลที่ได้จึงคุ้มค่าเหนือสิ่งอื่นใด
ในอนาคต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงตั้งใจจะขยายผลต่อยอดโครงการปลูกผักริมระเบียง ให้สามารถเพิ่มผลผลิต เพื่อกระจายความสุข โอกาสในการมีสุขภาพดี และคุณภาพชีวิตที่ดีสู่ประชาชนต่อไป ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับรายละเอียดเพื่อนำไปเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ในครัวเรือน หรือชุมชนต่อไปได้ที่ งานกายภาพและบริการพื้นฐาน สำนักงานคณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม โทร. 0-2441-5000 ต่อ 1116
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
1.นิตยสารสาระวิทย์ 19-12-65 https://www.nstda.or.th/sci2pub/veggie-in-city/
2.ThaiPR.NET 19-12-75 https://www.thaipr.net/education/3282176
3.RYT9.COM 19-12-65 https://www.ryt9.com/s/prg/3383075
4.newswit 19-12-65 https://www.newswit.com/th/LvZe
5.Edupdate 19-12-65 https://www.edupdate.net/2022/30889/
6.นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน 19-12-65 https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_238283
7.เมดิคอลไทม์ 19-12-65 http://medi.co.th/news_detail41.php?q_id=1664