รองช้ำ…ช้ำแบบไม่ต้องลอง
10/11/2022
“กิจกรรมทางกาย….เพื่อสุขภาพที่ดี”
10/11/2022
รองช้ำ…ช้ำแบบไม่ต้องลอง
10/11/2022
“กิจกรรมทางกาย….เพื่อสุขภาพที่ดี”
10/11/2022

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รู้ก่อน รักษาก่อน

เผยแพร่: 

อาจารย์ พญ.สุพิชชา กมลรัตนกุล
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่มีอาการอักเสบของผิวหนังอย่างเรื้อรังพบได้ตั้งแต่วัยทารกจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ โดยในแต่ละช่วงวัยจะมีลักษณะของผื่นที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นในเด็กเล็ก จะพบผื่นบริเวณหน้า ศีรษะและบริเวณด้านนอกของเเขนขา เช่น ข้อศอก ในเด็กที่อายุ 2 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ จะพบผื่นของโรคนี้บริเวณด้านในของแขนขา เช่น บริเวณข้อพับเเขน ข้อพับขา รอบคอ ข้อมือข้อเท้าได้ โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงหรือผื่นแดงที่มีอาการคันมาก ในผู้ป่วยบางรายพบเป็นตุ่มน้ำใส เมื่อเกาแล้วจะแตกเป็นน้ำเหลืองและเกาะเป็นสะเก็ดบริเวณผื่น หรือหากทิ้งไว้จนเรื้อรัง ผื่นจะหนาเเข็งมากขึ้นได้
​สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่ผิวหนังของผู้ป่วยมีความไวต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น พบว่าผู้ป่วยโรคนี้หรือคนในครอบครัว ส่วนมากจะมีอาการภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ ไอ จามหรือหอบหืด เยื่อบุตาอักเสบได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวสามารถพบโรคนี้ได้เช่นกัน
​โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง อาการของโรคจึงมักจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยปัจจัยที่ทำให้โรคนี้กำเริบมากขึ้น ได้แก่ สิ่งเเวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อโรค ฤดูกาลและอากาศที่หนาวหรือร้อนจัด ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เสื้อผ้าที่มีขน หรือเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากขนสัตว์ อาหารบางประเภท เช่น ไข่ ถั่วลิสง นม ซึ่งพบมากในผู้ป่วยเด็กและความเครียด​วิธีการดูแลรักษาโรคนี้ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้โรคเป็นมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่มีอุณหภูมิร้อนจัดหรือเย็นจัด หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มากเกินไป หรืออาบน้ำบ่อยครั้งเกินไป เลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนเหมาะสมกับผิว ลดความเครียดวิตกกังวล ทาโลชั่นหรือครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ โดยยาที่ใช้รักษาโรคนี้ตัวอย่างเช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง อย่างไรก็ตามเนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียง เช่น สีผิวเปลี่ยนแปลง สิว ผิวหนังบางลง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และยากลุ่มต้านฮีสตามีนชนิดรับประทานเพื่อลดอาการคัน

เรียบเรียงบทความโดย สาธิดา ศรีชาติ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป