กองบริหารงานทั่วไป จัดประชุมเพื่อสาธิตระบบ e-Document ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
13/01/2025
กองบริหารงานทั่วไป จัดประชุมเพื่อสาธิตระบบ e-Document ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
13/01/2025

“ม.มหิดล สร้างแพลตฟอร์มแนะนำและติดตามการใช้ยาวอร์ฟารินทางไกล นวัตกรรมระบบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ”

เผยแพร่: 1

รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉริยา พ่วงแก้ว
ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาวอร์ฟาริน (Warfarin) เป็นยารับประทานในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค ใช้ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่ไม่ได้มีสาเหตุจากลิ้นหัวใจ (Nonuvular Atrial fibrillation: NVAF) เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ยาชนิดนี้จึงถูกใช้ในระยะยาว และใช้ในผู้ป่วยหลายกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ เนื่องจาก NVAF มีแนวโน้มเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น

ประสิทธิภาพของการใช้ยาวอร์ฟารินมีโดยทั่วไปจะต้องควบคุมให้ค่าแข็งตัวของเลือด (International Normalized Ratio: INR) ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายการรักษา (ค่า 2-3) หรือตามแผนการรักษาของแพทย์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาดีที่สุด กรณีที่ค่า INR สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์จะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดหนืด เลือดออกในอวัยวะสำคัญได้ อาทิ เลือดออกในสมอง และทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยาวอร์ฟาริน จะทำปฏิกิริยาร่วมกับยาตัวอื่น ๆอาหาร และสมุนไพรบางชนิด ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาวอร์ฟารินจำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยา สามารถสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ และการจัดการเบื้องต้นหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้

ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยานี้จึงจำเป็นต้องได้รับการประเมินจากแพทย์อย่างละเอียด รวมทั้งผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแล ควรได้รับคำแนะนำ และติดตามจากบุคลากรทีมสุขภาพ พยาบาล และเภสัชกรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านความจำ การมองเห็น การตัดสินใจ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลสกลนคร กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนาแพลตฟอร์ม “การจัดการและติดตามการใช้ยาวอร์ฟารินทางไกลสำหรับผู้สูงอายุ” เพื่อให้ผู้ป่วยสูงอายุใช้ยาวอร์ฟารินได้ถูกวิธี รับประทานถูกต้องตามเวลา ตามปริมาณที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งสามารถสังเกตและจัดการเบื้องต้นหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จาการใช้ยา “นวัตกรรมพยาบาล ประสานสหสาขาวิชาชีพ High technology, High touching, Improve quality of care”

ระบบการจัดการและติดตามการใช้ยาวอร์ฟารินทางไกล จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เชื่อมต่อระหว่างผู้สูงอายุ ครอบครัว กับบุคลากรทีมสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเข้าถึงบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ผู้สูงอายุที่ใช้ยาวอร์ฟารินลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา สามารถใช้ยาได้ถูกต้องและถูกวิธี รวมถึงมีระบบการติดตามอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบคลินิกวอร์ฟารินทางไกล ผ่าน แอปพลิเคชัน “WarfarinCare” และเครื่องจ่ายยาวอร์ฟารินอัตโนมัติ โดยมีพยาบาลหรือเภสัชกรเป็นผู้ประสานงานในคลินิก มีอายุรแพทย์โรคหัวใจเป็นผู้ให้คำปรึกษา ภายใต้การสนับสนุนให้ครอบครัว มีศักยภาพในการร่วมดูแลผู้ป่วย การทำงานของวอร์ฟารินแอปพลิเคชัน และเครื่องจ่ายยาวอร์ฟารินอัตโนมัติ จะมีฟังก์ชันข้อมูลความรู้ด้านยา ค่า INR เป้าหมาย การแจ้งเตือนให้รับประทานยาตามเวลาที่ถูกต้อง ระบบการล้อคการจ่ายยาหากเลยช่วงเวลาปลอดภัยในการรับประทานยาแต่ละวัน สามารถรายงานลักษณะอาการที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือเลือดออกในอวัยวะสำคัญของร่างกายได้ตลอดเวลาผ่านแบบประเมินความเสี่ยงร่วมกับการถ่ายรูปป้อนกลับมายังระบบที่ออกแบบให้คำแนะนำเบื้องต้นอัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบแจ้งกลับมายังบุคลากรสุขภาพ เพื่อสามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา แอปพลิเคชัน และเครื่องจ่ายยาอัตโนมัตินี้ถูกนำไปใช้งานในโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร พบว่ากลุ่มผู้ใช้งานทั้งผู้ป่วยและครอบครัวมี ระดับค่า INR อยู่ในช่วงเป้าหมายมากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยามากขึ้น มีความพึงพอใจ ทราบข้อมูลในการรับประทานยาอย่างถูกวิธี และสามารถติดต่อสอบถามบุคลากรทีมสุขภาพได้สะดวกขึ้น ทำให้ครอบครัวและผู้ดูแลทราบรายละเอียดของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของโรคที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคตได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเองของสมาชิกในครอบครัวทางหนึ่ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยผลงานดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยื่นจดอนุสิทธิบัตร และลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมีแผนจะพัฒนาให้มีความสมบูรณ์และพร้อมใช้งานมากขึ้น พร้อมทั้งขยายขอบเขตในการใช้งานให้มากขึ้น เพื่อสร้างงานวิจัยให้เกิดการชี้นำนโยบายด้านสุขภาพและเกิดประโยชน์ต่อสังคม


เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป