การลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี คือก้าวแรกสู่การมีสุขภาพดีและยั่งยืน
11/10/2024
กองบริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประเภทหน่วยงานในสำนักงานอธิการบดี ระดับผ่านดี
22/10/2024
การลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี คือก้าวแรกสู่การมีสุขภาพดีและยั่งยืน
11/10/2024
กองบริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประเภทหน่วยงานในสำนักงานอธิการบดี ระดับผ่านดี
22/10/2024

ครอบครัวอบอุ่นด้วยแนวคิด ความสุข 8 ประการ

เผยแพร่: 19 ต.ค.

รองศาสตราจารย์ ดร.อธิวัฒน์ เจี่ยวิวรรธน์กุล
รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

ครอบครัวถือเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดของสังคม ในการทำหน้าที่กล่อมเกลาและปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องแก่สมาชิกในครอบครัว รวมถึงการสร้างความสุข ความรัก ความผูกพัน และความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวด้วย คำว่า “ครอบครัวอบอุ่น” หรือครอบครัวที่ผู้คนพึงปรารถนา ได้ถูกแทนที่ด้วยถ้อยคำที่หลากหลาย อาทิ ครอบครัวที่ดี ครอบครัวแห่งความสุข ครอบครัวที่พึงประสงค์ ครอบครัวอยู่ดีมีสุข ครอบครัวเข้มแข็ง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังให้ความหมายในแง่มุมของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ การมีครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความผูกพัน เอาใจใส่ มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน สนทนากันอย่างเอื้ออาทร มีความกตัญญู มีระเบียบวินัย และปราศจากความรุนแรงในครอบครัว

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือ องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ในองค์กรภาคเอกชน ตั้งแต่ปี 2554 ด้วยแนวคิดความสุข 8 ประการ (Happy 8) ซึ่งคนทำงานในองค์กรเปรียบเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว และผู้บริหารองค์กรเปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว ซึ่งสมาชิกทุกคนต่างมีบทบาทหน้าที่ แนวคิด ค่านิยม วัฒนธรรมที่ยึดถือในการอยู่ร่วมกัน สร้างความสมานฉันท์ในองค์กร อันจะทำให้องค์กรเกิดความสุข ด้วยเหตุนี้แนวคิดความสุข 8 ประการ (Happy 8) จึงได้นำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความอบอุ่น และเป็นครอบครัวแห่งความสุข

​แนวคิดความสุข 8 ประการ (Happy 8) จะเน้นการสร้างให้เกิด “ครอบครัวแห่งความสุข” หรือ “ครอบครัวสุขภาวะ” ด้วยกระบวนการพัฒนาที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความสุขให้แก่สมาชิกในครอบครัว ครอบคลุมทั้งในมิติร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ควบคู่ไปกับบทบาทและหน้าที่ในครอบครัว เพื่อก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดี หรือความอยู่ดีมีสุข ซึ่งสามารถวัดได้จากความรู้สึกของแต่ละบุคคล ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ ภูมิหลัง การใช้ชีวิตของบุคคลนั้น ๆ รวมถึงระบุจากสุขภาพ การศึกษา การงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวและกับผู้อื่นในสังคม สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ความมั่นคงด้านต่าง ๆ การมีส่วนร่วม สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว ซึ่งองค์ประกอบความสุขที่จะช่วยส่งเสริมการเป็นครอบครัวแห่งความสุขสามารถแบ่งได้เป็น “ความสุข 8 ประการ” ดังนี้
​1. สุขภาพดี (Happy Body) คือ การส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพดี ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งเกิดจากการรู้จักใช้ชีวิต รู้จักกิน รู้จักพักผ่อน การเลือกอาหาร การจัดการอารมณ์ และการออกกำลังกาย
​2. น้ำใจดี (Happy Heart) คือ การส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน การรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง มีจิตอาสา นึกถึงประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
​3. ผ่อนคลายดี (Happy Relax) คือ การที่สมาชิกในครอบครัวสามารถจัดการกับอารมณ์ หรือความเครียดของตนเองได้ดี รู้จักการผ่อนคลายกับสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตได้
​4. ใฝ่รู้ดี (Happy Brain) คือ สมาชิกในครอบครัวต้องรักการเรียนรู้ และเป็นมืออาชีพในการทำงาน พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ เรียนรู้ทักษะในการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
​5. สุขสงบดี (Happy Soul) คือ การส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีคุณธรรม ความกตัญญู เป็นคนดี ซื่อสัตย์ มีศีลธรรม และมีสติในการดำเนินชีวิต
​6. การเงินดี (Happy Money) คือ สมาชิกในครอบครัวต้องรู้จักวิธีใช้เงิน รู้จักเก็บออม เป็นหนี้อย่างมีเหตุผล สามารถบริหารจัดการรายรับ-รายจ่าย ของตนเองและครอบครัวภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
​7. ครอบครัวดี (Happy Family) คือ หัวหน้าครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวมีหน้าที่ในการส่งเสริมความรัก ความผูกพัน และสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เป็นกำลังใจให้กันและกัน ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ และสื่อสารกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
​8. สังคมดี (Happy Society) คือ สมาชิกในครอบครัวมีการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับบุคคลอื่น ชุมชน และสังคม ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น หัวหน้าครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวนั้น ทุกคนสามารถจัดการสมดุลความสุขในชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องส่วนตัว ที่ทำงาน และครอบครัว ให้สอดคล้องกับบริบทและวิถีปฏิบัติของตนเองและครอบครัว ภายใต้สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยสมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เคารพกฎกติกาที่กำหนดร่วมกัน เสริมสร้างและรักษาบรรยากาศที่ดีในครอบครัว อันจะนำไปสู่ครอบครัวที่อบอุ่นอย่างยั่งยืนตลอดไป


เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป