ม.มหิดลชูแนวคิดเกษตรยั่งยืน ‘Resilience Agriculture’ สร้าง ‘เศรษฐกิจชุมชน’ ก่อนก้าวสู่ ‘เศรษฐกิจโลก’
31/10/2024ม.มหิดล-สธ. ร่วมวิจัยระบาดวิทยา HIV-โรคหัวใจ พร้อมขยายผล NCDs ตอบโจทย์ออกแบบจัดบริการองค์รวม
31/10/2024ในอดีตการตัดสินใจลงทุนมักขึ้นอยู่กับข้อมูลทางการเงิน เช่น ผลประกอบการเป็นหลัก แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการลงทุนในปัจจุบัน ทำให้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุน ได้ขยายขอบเขตไปสู่การนำปัจจัยความยั่งยืน หรือ “การแสดงข้อมูลความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” ในด้านที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญวี ประทุมสุวรรณ์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวไว้ในงานวิจัยเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง “Willingness to Invest and the Assurance of Corporate Social Responsibility Reports” เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และคุณภาพของข้อมูลดังกล่าวต่อการวิเคราะห์ และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ เพื่อให้การลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การริเริ่มงานวิจัยดังกล่าวเพื่อศึกษาและขยายผลสู่ระดับนโยบายสำหรับประเทศไทย ในขณะที่ต่างประเทศโดยเฉพาะในฝั่งยุโรป มีความตื่นตัวและมีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เช่น “Corporate Sustainability Reporting Directive” (CSRD) ที่บังคับใช้อย่างแพร่หลาย
ในประเทศไทย การจัดทำรายงานความยั่งยืนไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่รูปแบบและข้อกำหนดในการจัดทำรายงานความยั่งยืนไม่ได้มีรูปแบบและข้อกำหนดที่ชัดเจน และยังคงเป็นเพียงแต่ “ความสมัครใจ” ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขององค์กร ส่งผลให้แต่ละองค์กรมีระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และคุณภาพของข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่ก็มีแนวโน้มว่าต่อไปจะได้มีการออกประกาศเกณฑ์หรือมาตรฐาน เพื่อบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในอนาคตอันใกล้
เพื่อการเตรียมพร้อมสู่ “โลกประกอบการสีเขียว” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญวี ประทุมสุวรรณ์ ได้แนะนำผู้ประกอบการในการจัดทำ “ข้อมูลแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ดึงดูดนักลงทุนว่า ควรเพิ่ม “ความน่าเชื่อถือ หรือความมั่นใจ” ให้กับผู้ใช้ข้อมูลในรายงานความยั่งยืน ด้วยการจ้างผู้สอบทานจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูล และให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่เปิดเผย
เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีการให้ข้อมูลเท็จ หรือเกินจริงในรายงานด้านความยั่งยืนของบริษัท หรือที่เรียกกันว่า “การฟอกเขียว” (Greenwashing) อยู่บ่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหลักในการทำลายความน่าเชื่อถือของระบบการเปิดเผยข้อมูล ความถูกต้อง และแม่นยำของข้อมูล ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดราคา และสัดส่วนในการลงทุน
อย่างไรก็ดี แม้ตามหลักการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมกล่าวคือ “จะทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด” แต่หากสามารถทำได้แม้เพียง 1 ใน 3 ของ ESG ซึ่งประกอบด้วยทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในขณะเดียวกัน หากบริษัทไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของบริษัทในสหภาพยุโรปก็ควรเตรียมความพร้อม เนื่องจากมีโอกาสที่จะเข้าข่ายมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนโดยอ้อมก็เป็นได้
โดยในปัจจุบัน MUIC ได้บรรจุประเด็นต่างๆ ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ความยั่งยืน” (Sustainability) ไว้ในหลักสูตรของ กลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ MUIC ไม่ว่าจะเป็นสาขาการเงิน การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ และการตลาด
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มี Major ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนโดยเฉพาะ แต่มีรายวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไป (General Education) ที่ช่วยปลูกฝังและให้นักศึกษาได้รับรู้ในเรื่องของความยั่งยืนผ่านการลงพื้นที่บริการชุมชน (Community Service) ตลอดจนมีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) รวมถึงการนำกรณีศึกษาด้านความยั่งยืนเข้ามาผนวกในการเรียนการสอน
โดยตัวอย่างของการบริการชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งใน Pillar หลักของ ESG คือ MUIC ได้นำนักศึกษาฯ ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติในโรงเรียนสอนคนตาบอด ซึ่งดำเนินโครงการภายใต้หลักการ “การคิดเชิงวิเคราะห์” (Design Thinking) เพื่อให้ได้เข้าถึง “โจทย์ความต้องการของชุมชน” อย่างแท้จริง
แต่ในอนาคตเมื่อพร้อม อาจเปิดเป็นหลักสูตรที่เปิดสอนโดยตรง เพื่อไม่ให้คนไทยต้องเดินทางไปศึกษาไกลถึงต่างประเทศซึ่งมีเปิดสอนในด้านดังกล่าวอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก
เพื่อสนองนโยบายแห่งการเป็น “มหาวิทยาลัยยั่งยืน” ด้วยองค์ความรู้อันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ข่าวได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน