“โภชนาการกับผู้สูงอายุ”
20/09/2024การลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี คือก้าวแรกสู่การมีสุขภาพดีและยั่งยืน
11/10/2024เผยแพร่:
อาจารย์ ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
อุตสาหกรรมอาหารที่มีการทำการตลาดกับเด็กมากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ให้พลังงานสูง มีปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง หรืออาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารดังกล่าวมีการทำการตลาดโดยใช้เทคนิคและความคิดสร้างสรรค์หลากหลายมากขึ้นเพื่อดึงดูดใจเด็ก เช่น การนำเสนอภาพการ์ตูนที่เด็กชื่นชอบบนซองผลิตภัณฑ์อาหารหรือขวดเครื่องดื่ม การใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นนักแสดง นักร้อง นักกีฬา อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความชอบของเด็ก การส่งเสริมการขายด้วยการลด แลก แจก แถม และการชิงโชคชิงรางวัล ผ่านทุกช่องทางโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์และวิดีโอแชร์ รวมถึงโทรทัศน์และสื่อกลางแจ้งต่าง ๆ เช่น ป้ายโฆษณาหรือแบนเนอร์ในโรงเรียน ร้านสะดวกซื้อ รถโดยสารประจำทาง และป้ายโฆษณาข้างทาง
อาจารย์ ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของประเทศไทย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลเด็กในช่วงอายุระหว่าง 6 – 18 ปี จำนวน 4,117 คน ทั่วประเทศไทย ในปี 2566 – 2567 พบว่า ร้อยละ 92.5 หรือประมาณ 9 ใน 10 คน ของเด็กในช่วงอายุดังกล่าว บริโภคขนมขบเคี้ยวหรือขนมกรุบกรอบมากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องดื่มที่มีรสหวาน อาทิ น้ำอัดลมและชาเขียวพร้อมดื่ม คิดเป็นร้อยละ 89.5 และอาหารกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นร้อยละ 79.3% ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีปริมาณพลังงาน ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง (Foods and beverages high in fat, salt, and sugar หรือ HFSS)
อาจารย์ ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มการบริโภคอาหาร HFSS ของเด็กไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพฤติกรรมบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 และ 2564 พบว่า เด็กไทยอายุ 6 – 14 ปี บริโภคขนมขบเคี้ยวทุกวันเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 17.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 23.3 ในปี 2564 และเยาวชนอายุ 15 – 20 ปี จากร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 ในช่วงเวลาเดียวกัน
การรับประทานอาหาร HFSS ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งด้านร่างกาย หากเด็กรับประทานอาหาร HFSS เป็นประจำทุกวัน อาจทำให้ติดกับรสชาติหวาน มัน เค็ม จนท้ายที่สุดเมื่อเด็กชินกับรสชาติก็จะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปนั้นมีรสหวานหรือเค็มมากเกินไป หากเด็กรับประทานอาหารเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอันนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease: NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไตได้ ส่วนด้านจิตใจ เกิดการนำเทคนิคทางการตลาดอาหารที่สร้างมายาคติทำให้เด็กรับรู้และเข้าใจว่า อาหาร HFSS เป็นอาหารอร่อย เช่น โฆษณาที่ใช้พรีเซนเตอร์ที่รับประทานอาหารดังกล่าวแล้วพูดว่า “อร่อย” หรือ การแสดงสีหน้าและท่าทางด้วยการทำตาโตบ่งบอกถึงความอร่อยจากการบริโภคอาหารเหล่านี้ โฆษณาดังกล่าวปิดบังอำพรางความจริงที่ว่า “อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่ให้ปริมาณพลังงาน ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลในระดับสูง” และการโฆษณาในลักษณะนี้จะทำให้เด็กเกิดความเชื่อที่ว่า การรับประทานอาหาร HFSS เป็นเรื่องปกติธรรมดา สามารถรับประทานได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการทำละลายความรอบรู้ด้านอาหาร (Food literacy) ของเด็กอีกด้วย
อาจารย์ ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมถึงปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมการรับประทานอาหาร HFSS ของเด็กตามกรอบแนวคิดของยูนิเซฟ มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหาร HFSS ของเด็กซึ่งเกิดจากปัจจัยระดับบุคคล คือ ตัวเด็กเองที่พบเห็นเทคนิคการตลาดอาหาร HFSS รวมกับความถี่ที่เด็กพบเห็นเทคนิคการตลาดอาหารดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและบริษัทโฆษณาที่เป็นผู้สร้างเทคนิคทางการตลาดอาหาร ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการส่งเสริมและโน้มน้าวใจให้เด็กจดจำ ชอบ เกิดความต้องการซื้อ และบริโภคอาหาร HFSS มากขึ้น และเมื่อความต้องการบริโภคอาหารกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น การแข่งขันทางการตลาดก็เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ทางการตลาดทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำกรอบแนวคิด “โมเดลสังคมนิเวศวิทยา” มาใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร HFSS ของเด็ก จะสามารถอธิบายปัจจัยอื่น ๆ ได้ตั้งแต่ปัจจัยระดับเล็กที่สุดไปจนถึงปัจจัยระดับใหญ่ที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยระดับบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่ได้กล่าวข้างต้น เช่น ปัจจัยระดับบุคคลที่มากกว่าตัวเด็กเอง ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา เงินค่าขนม ปัจจัยระดับ Mesosystem คือ ปัจจัยที่มีอิทธิพลมาจากบุคคลใกล้ชิดหรือรอบตัวเด็ก อาทิ พ่อแม่ ผู้ปกครอง สมาชิกในครอบครัว ญาติ เพื่อน ปัจจัยระดับ Exsosystem เป็นปัจจัยที่ห่างไกลจากบุคคลรอบตัวเด็ก ซึ่งสามารส่งผลกระทบทางอ้อมทั้งทางบวกและทางลบ อาทิ บทบาทของโรงเรียนหรือชุมชน และระดับ Macrosystem เป็นปัจจัยทางสังคมที่อยู่ห่างไกลตัวเด็กออกไปมาก แต่สามารถส่งผลกระทบต่อการบริโภคอาหาร HFSS ของเด็กได้ เช่น นโยบายด้านสุขภาพของรัฐ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหาร HFSS ของเด็กจึงประกอบด้วยหลากหลายปัจจัย
อาจารย์ ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อพิจารณาจากหลากหลายปัจจัย ปัจจัยการพบเห็นการตลาดอาหารเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กจดจำ ชื่นชอบ และเกิดความต้องการซื้อและบริโภคอาหารดังกล่าว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันผลักดันให้เกิดมาตรการควบคุมการตลาดอาหาร เพื่อลดการพบเห็นการตลาดอาหารของเด็ก และช่วยให้เด็กไทยสามารถบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงบทความ โดย คุณจรินทร์ภรณ์ ตะพัง
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป